“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ย้ายซบพรรคภูมิใจไทย สู้ศึกเลือกตั้ง กทม.

10 ต.ค. 2565 | 14:39 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 21:51 น.
1.4 k

“บี - พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ย้ายค้ายจากพลังประชารัฐ โผเข้าซบพรรคภูมิใจไทยแล้ว เพื่อเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้งในเขต กทม.

รายงานข่าวระดับสูงจากพรรคภูมิใจไทย ระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมกับพรรคภูมิใจไทยแล้ว เพื่อช่วยดูแลการเลือกตั้งในเขต กทม. 

 

ขณะเดียวกันยังมีรายงานด้วยว่า น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ยังได้ย้ายเข้ามาอยู่กับพรรคภูมิใจไทยด้วย

สำหรับประวัตินายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ มีชื่อเล่นว่า บี เกิดวันที่ 20 พฤศจิกายน 2511 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในครม.ที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 

 

กระทั่งถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ภายหลังที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่านายพุทธิพงษ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในช่วงการประท้วงที่นำไปสู่รัฐประหาร 2557

 

การศึกษา

  • จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2535 
  • จบปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) จาก European University, Montreux สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2539 

การทำงาน 

  • เป็นผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ บริษัท ราชธานี กรุ๊ป และรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่วงการเมือง ปัจจุบันกำลังศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 64 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย

 

งานการเมือง 

 

การเลือกตั้งปี 2544 นายพุทธิพงษ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคประชาธิปัตย์ พื้นที่เขต 4 กรุงเทพมหานคร ซึ่งก็คือ เขตราชเทวี (เฉพาะแขวงทุ่งพญาไทและแขวงถนนพญาไท) เขตพญาไท โดยแข่งขันกับ นางกรรณิกา ธรรมเกษร อดีตพิธีกรโทรทัศน์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย 

 

ผลการนับคะแนนนางกรรณิการ์เป็นฝ่ายชนะได้รับการเลือกตั้ง และได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ทว่า หลังจากสภาฯ ชุดดังกล่าวทำงานไปได้เกือบ 1 ปี คณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจให้ใบเหลือง นางกรรณิการ์ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 มีนาคม 2545 ซึ่งครั้งนี้ ชัยชนะก็เป็นของนายพุทธิพงษ์แทน

 

ในระหว่างที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยแรก (ปี 2547 - 2551) นายพุทธิพงษ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง โฆษกกรุงเทพมหานคร นับเป็นบุคคลแรกที่รับตำแหน่งนี้ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าณ กทม. ดูแลงานด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม กีฬา การท่องเที่ยว และด้านการพานิชย์ ของกทม.

 

ปี 2553 นายพุทธิพงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควบคู่กับการดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งรองโฆษกฯ ในเวลาต่อมา

 

ปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 7 (เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงวังทองหลางและแขวงพลับพลา))

 

ปี 2561 เขาได้เข้าร่วมงานในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ปี 2562 นายพุทธิพงษ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งข้าราชการการเมือง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ตำแหน่งทางการเมือง

  • ปี 2544 ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
  • ปี 2545 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (เขตราชเทวี (เฉพาะแขวงทุ่งพญาไทและแขวงถนนพญาไท) เขตพญาไท)
  • ปี 2549 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • ปี 2551 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คนที่ 1)
  • ปี 2552 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปี 2553 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
  • ปี 2554 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 7 (ห้วยขวาง วังทองหลาง (เฉพาะแขวงวังทองหลางและแขวงพลับพลา))
  • ปี 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
  • ปี 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม