"ชัยวุฒิ" หวั่น คัน กั้นน้ำภาคกลางขาด เร่งระบายด่วน

09 ต.ค. 2565 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2565 | 20:14 น.

"ชัยวุฒิ" หวั่น คันกั้นน้ำภาคกลางขาด เร่งระบายด่วน พร้อมตั้งโรงครัวพระราชทานให้ถุงยังชีพน้ำดื่ม ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันนี้ ( 9 ต.ค. 2565 ) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่บริเวณเเนวคันกั้นน้ำขาด เเละเสียหาย ที่ บริเวณวัด ประสาท อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี พร้อมกับ นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี และหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง โดย นายชัยวุฒิ ได้ให้กำลังใจ พร้อมพูคคุยกับประชาชน ผู้ประสบภัย ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรี ได้นำอาหารเเห้ง จากผู้มีจิตศรัทธามามอบให้ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 2000 ครอบครัวด้วย 

 

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่าสิ่งสำคัญตอนนี้เราเน้น จะดูเรื่องอาหารการกินมีการตั้งโรงครัวพระราชทานให้ถุงยังชีพน้ำดื่มสะอาด แล้วก็ดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนผู้สูงอายุ คนป่วยติดเตียงที่มีสุขภาพไม่ดี ก็จะนำมาพักอยู่ที่โรงพยาบาล อําเภอพรหมบุรี

ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงขณะนี้เราเตรียมศูนย์พักพิงไว้ทุกๆ อําเภอเพื่อรองรับผู้ประสบภัย ที่น้ำท่วมหนัก นอกจากนี้ก็มีการจัดตั้งสุขาชั่วคราวในทุกๆ จุด ที่ประชาชนบ้านถูกน้ำท่วมด้วย 
  


โดยในภาพรวมถือว่าสิงห์บุรีเเละจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ได้มีการวางแผนมาอย่างดี นายชัยวุฒิยังระบุด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเเละเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือเรื่องการระบายน้ำ เพราะว่าวันนี้ปริมาณน้ำที่มี ถ้าดูจากระดับความสูง ก็เท่าๆ กับประมาณปี2554 ปริมาณฝนที่ตกจริงๆ ทั้งประเทศก็ใกล้เคียงกับปี54 สิ่งที่เรากลัวคือ ถ้าน้ำมันล้นจากระบบชลประทานป้องกันน้ำท่วมมันก็จะเกิดความเสียหาย     

ปริมาณน้ำที่มากจะกระจายความเเรงของน้ำ จะทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่วงกว้างซึ่งรัฐบาลได้วางแผนไว้แล้ว มีนโยบายให้เราปล่อยน้ำลงทุ่ง เพื่อหน่วงน้ำ ลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่เจ้าพระยา ซึ่งก็ดําเนินการไปบางส่วนแล้ว
  

ทั้งนี้ยอมรับว่า บางจุดที่สิงห์บุรีน้ำก็ยังไม่ได้ออกไปเป็นระบบมากเท่าที่ควร ทำให้คันกั้นน้ำ ต่างๆ ล้นไปท่วมบ้านเรือนประชาชน เเละคันกันน้ำหลายจุด ก็กําลังจะพังแล้ว ดังนั้นถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการน้ำ ปล่อยน้ำออกไปบ้าง ผมเชื่อว่าเดี๋ยวคันกั้นน้ำจะขาด คลองชลประทานขาด ก็จะคุมมวลน้ำมหาศาลไม่ได้เลย จะเสียหายหนัก ทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ เเละเกษตรกรรม      


อย่างไรก็ตามจะติดตามกับทางชลประทานว่าได้มีการะบายน้ำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ก็คือ การ เอาน้ำลงทุ่ง 11 ทุ่ง ตามมติ ครม. ที่กําหนดไปแล้ว