ศาลรับฟ้อง หมอวรงค์ ใส่ความ"กัลฟ์"ผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม ขึ้นศาล 14 พ.ย.

19 ก.ย. 2565 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2565 | 22:28 น.
1.1 k

ศาลอาญากรุงเทพใต้ รับฟ้องหมอวรงค์ เป็นจำเลยคดีใส่ความ กัลฟ์ ผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต ระบุ อาจเข้าข่าย ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ดูหมิ่น เกลียดชัง ขึ้นศาลนัดแรก 14 พ.ย.

เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งประทับฟ้องคดีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เป็นจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
               

ที่มาของคดีนี้ เกิดจากการไลฟ์สดในเพจเฟสบุ๊ค “Warong Dechgitvigrom” ของ นพ.วรงค์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2564 กล่าวหากัลฟ์ว่ากำลังจะเข้ามาผูกขาดกิจการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต โดยประกาศรับซื้อหุ้น ถือหุ้นส่วนใหญ่ บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และจะซื้อหุ้น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส รวมทั้งจะเข้าประมูลสัมปทานดาวเทียม

 

 

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี

 

โดยนพ.วรงค์กล่าวหาว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ล็อคสเป็คให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทาน

 

กัลฟ์ จึงฟ้องนพ.วรงค์ เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว
     

 

ศาลระบุในคำสั่งประทับฟ้องว่า จากการชี้แจงของกัลฟ์ ประกอบการพิจารณาเนื้อหา ภาพประกอบการไลฟ์สดของ นพ.วรงค์ การไลฟ์สดดังกล่าว มีลักษณะเป็นการใส่ความที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์ มีวัตถุประสงค์จะผูกขาดเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชันแก่ข้าราชการและนักการเมือง  เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์

“พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า การกล่าวถ้อยคำ กระจายข้อความ เสียง รูป และรูปภาพ(คลิป)ในเพจเฟสบุ๊คของจำเลยดังกล่าว เป็นการใส่ความโจทก์ด้วยการโฆษณา โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 จึงมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา”
                   

ศาลอาญานัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งในวันดังกล่าว นพ.วรงค์ ต้องไปให้การต่อศาลด้วยตัวเอง  และขอประกันตัว