“เรืองไกร”ร้องศาลรธน.สอบ"มีชัย"ปม 8 ปี นายกฯ เบิกความเท็จหรือไม่

11 ก.ย. 2565 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2565 | 23:31 น.

"เรืองไกร"ส่งคำร้องถึงศาลรธน. ขอให้ตรวจสอบ"มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธาน กรธ. เบิกความเท็จ ปม 8 ปี นายกฯ ส่อผิดประมวลก.ม.อาญา หรือไม่ หลังพบบันทึกรายงานการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500-501/61 ขัดแย้งกัน

วันที่ 11 กันยายน 2565 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า กรณีปรากฏข่าวความเห็นของประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 แผ่น โดยมีความเห็นว่า


 "โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560"

นายมีชัย ยังได้ระบุความเห็นไว้ด้วยว่า "อนึ่ง สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการตรวจรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้..."


เมื่อไปตรวจสอบบันทึกประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 พบว่า นายมีชัย เคยให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวไว้ดังนี้

"ประธานกรรมการ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม"


การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี"

 

ไปตรวจสอบบันทึกประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501 วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2561 พบว่า ระเบียบวาระที่ 2 มีการรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 โดยไม่มีการแก้ไข ไปแล้วด้วย


สรุปว่า ความเห็นของ นายมีชัย จำนวน 3 แผ่น ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สอดคล้องต้องกันบันทึกครั้งที่ 500 อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ


นายมีชัย เคยแสดงความเห็นในบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ว่า "...แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี"


แต่ นายมีชัย กลับมาแสดงความเห็นในภายหลังต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า 


"โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560"

 

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า นายมีชัย ในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรถือเป็นพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และคำเบิกความดังกล่าวควรเป็นข้อสำคัญในคดี 
แต่คำเบิกความของนายมีชัย กลับไม่สอดคล้องต้องกันกับบันทึกการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 และ 501 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำเบิกความดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการเบิกความเท็จซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 หรือไม่ และคำเบิกความดังกล่าว ควรตกไป หรือไม่


ทั้งนี้ นายเรืองไกร ได้ส่งหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว ผ่านทางไปรษณีย์ EMS