แจงคำร้องกม.ลูก 2 ฉบับ ยังไม่ถึงศาลรธน. อยู่ขั้นตอนตรวจสอบรายชื่อ

29 ส.ค. 2565 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2565 | 20:56 น.

คณะทำงานประธานรัฐสภา แจงคำร้องกม.ลูก 2 ฉบับ ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจความ เผย ร่างกม.ลูกพรรคการเมือง มีแต่รายชื่อส.ว.ร้อง รอฝ่ายกม.สภาชี้ขาดยื่นได้หรือไม่ ขณะที่ ร่างกม.ลูกส.ส. รอเพียงส.ว.ตรวจสอบความถูกต้องรายชื่อ ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 29 ส.ค.2565 นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะทำงานประธานรัฐสภา แถลงความคืบหน้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ว่า สำหรับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบในวันที่ 26 ก.ค. ประธานรัฐสภาได้ส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. และกกต. ส่งกลับมายังรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ส.ค

 

เมื่อกกต.ส่งกลับมา ประธานรัฐสภามีหน้าที่ตามข้อบังคับข้อที่ 104 ชะลอไว้ 3 วัน ก่อนส่งไปนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างการชะลอไว้ โดยในวันที่ 19 ส.ค. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งเมื่อยื่นมาและรายชื่อถูกต้องก็จะดำเนินการไปตามปกติ เพราะต้องส่งให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบรายชื่อส.ว.ซึ่งทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งเรื่องกลับว่าวันที่ 26 ส.ค. เพื่อให้ประธานรัฐสภา ลงนามส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

นายอิสระ กล่าวว่า มีประเด็นที่เพิ่มขึ้นมาคือ กรณีให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 1 ใน 10 ซึ่งการยื่นรายชื่อมามีจำนวน 1 ใน10 จริง แต่คำว่าสมาชิกรัฐสภา หมายถึงส.ส.และส.ว. แต่คำร้องของพล.อ.สมเจตน์ รายชื่อที่ส่งมาทั้งหมดมีเพียงส.ว. แต่ไม่มีส.ส. ทางฝ่ายกฎหมายของสภาจำนวนหนึ่งเห็นว่า อาจจะไม่ครบองค์ประกอบ เพราะไม่มีส.ส. แต่อีกฝ่ายเห็นว่าไม่จำเป็นมีส.ส.ก็เป็นสมาชิกรัฐสภาได้

แจงคำร้องกม.ลูก 2 ฉบับ ยังไม่ถึงศาลรธน. อยู่ขั้นตอนตรวจสอบรายชื่อ

ดังนั้น ในวันนี้ (29 ส.ค.) จะมีการประชุมของฝ่ายกฎหมายสภา เพื่อวินิจฉัยว่า มีรายชื่อเพียงส.ว.อย่างเดียวใช้ได้หรือไม่ หากเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้เลย และแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี โดยแนบข้อความว่า มีผู้ร้องในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องรอจนกว่าจะมีวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา

 

แต่หากฝ่ายกฎหมายเห็นว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งถือว่าเลย 3 วันที่จะยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้ว พล.อ.สมเจตน์ สามารถใช้รายชื่อดังกล่าวไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 วันก่อนทูลเกล้าฯ ได้เพราะถึงขั้นตอนนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 และ 148 กำหนดว่า จะมีเฉพาะส.ว. เฉพาะส.ส. หรือ ส.ส.และส.ว.ก็ได้
 

“สำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น หลังจากที่กกต.ตอบกลับมายังรัฐสภาวันที่ 23 ส.ค. และในระหว่างที่รอ 3 วัน ก่อนที่ประธานรัฐสภา จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ในวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นให้ประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า

 

การคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบความถูกต้องทั้งรูปแบบและลายเซ็น ซึ่งในคำร้องนี้ไม่มีปัญหาเนื่องจากมีรายชื่อทั้งส.ส. และส.ว.

 

โดยขณะนี้กำลังรอความถูกต้องของรายชื่อส.ว.จากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาอยู่ ซึ่งหากรายงานกลับมามว่าถูกต้อง ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นคำร้องของทั้ง 2 ฉบับ จึงยังไม่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยืนยันว่าประธานรัฐสภามีดำริให้ดำเนินการทุกขั้นตอนโดยเร็วและรอบคอบ”