"มาดามเดียร์" ลาออกจาก ส.ส. พปชร. ชี้สภาน่าผิดหวัง-ทำลายศรัทธาประชาชน

16 ส.ค. 2565 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2565 | 16:13 น.
2.1 k

"มาดามเดียร์" ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ชี้สภาน่าผิดหวัง เล่นเกมการเมืองกันจนทำลายศรัทธาประชาชน และไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอีกต่อไป

น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ "มาดามเดียร์" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์ข้อความผ่าน เพจเฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา บุนนาค  ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ วันนี้ (16 ส.ค.) รายละเอียดเนื้อหาระบุว่า

 

เมื่อสภาที่ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชน กลับเล่นเกมการเมือง ทำลายศรัทธาประชาชน ไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ผู้แทนปวงชนก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ เดียร์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอพิจารณาตนเองตัดสินใจลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่และการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

 

จากวันแรกที่ "เดียร์" ก้าวเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคพลังประชารัฐภายใต้อุดมการณ์ที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งๆที่ประเทศเรามีต้นทุนที่ดี เป็นแหล่งในการผลิตอาหารของโลก มีภาคการเงินที่เข้มแข็ง เอกชนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่ทว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเรากลับติดหล่มปัญหาทางการเมืองจากความขัดแย้งภายในประเทศ การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปได้ช้าและยากเพราะเหตุจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของเราเอง

ภายหลังจากที่กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีเนื้อหาบางส่วนที่กลายเป็นข้อถกเถียงสำหรับผู้คนในสังคม กระทั่งหลายคนออกมาวิจารณ์ถึงการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

 

แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงเวลานั้นก็คือ “อำนาจสูงสุดกำลังเริ่มต้นนับหนึ่งกลับคืนสู่มือของประชาชนอีกครั้ง” เสียงของประชาชนที่เคยแผ่วเบาลงไปในช่วงเวลาหนึ่งกำลังจะกลับมาดังขึ้น โดยเฉพาะในวันที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจกากบาทเลือก ส.ส.ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนของตนเอง แม้กติกาจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรแต่ “เดียร์ยังคงศรัทธาและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สุดท้ายแล้วจะสามารถคัดกรอง พร้อมทั้งสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด”

 

และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่เดียร์ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วยการลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 19 เพื่อสร้างพรรคทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ออกจากวังวนของความขัดแย้งระหว่างพรรคใหญ่ 2 ขั้วเดิม

ทว่านับตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา 22 พฤษภาคม 2562 จนกระทั่งวันนี้ 16 สิงหาคม 2565 ครบรอบการทำงานของสภา 3 ปีเต็มเข้าสู่ปีสุดท้ายตามวาระของรัฐบาล ตลอดช่วงระยะกว่า 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้บริบทการเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ทางความคิดหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งบนถนนและในรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็ต่างใช้เวทีรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตน

 

ดังที่เกิดการนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสู่กระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ การอภิปราย วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลทั้งในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ปรกติผ่านการทำงานของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเกิดข้อพิพาท ถกเถียงอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงเห็นได้ชัดเจนคือ "การใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือและที่พึ่งให้แก่ประชาชน"

 

สิ่งที่หน้าเศร้าใจก็คือเหตุการณ์การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ ที่ปรากฏให้เห็นชัดว่าการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนของ ส.ส. ที่ถือเป็นหลักพึงกระทำพื้นฐานในฐานะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้เหมือนเดิม ทั้งนี้เดียร์เคารพในสิทธิ์การตัดสินใจของ ส.ส. ทุกท่าน ไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 การเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในครรลองระบอบประชาธิปไตย และนั่นก็นับเป็นข้อดีของระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอความคิดเพื่อร่วมกันหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นอย่างไร เดียร์ยังคงยึดมั่นในหลักการทำหน้าที่บนความถูกต้อง โดยการใช้สภาเป็นทางออกเพื่อให้ได้ข้อยุติของปัญหา

 

ตลอดการปฏิบัติงาน 1,168 วัน ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้หลายครั้งการทำหน้าที่ ส.ส.ของเดียร์จะมีความเห็นทั้งที่ไปในแนวทางเห็นด้วยและเห็นต่างจากพรรคพลังประชารัฐตามที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แต่เดียร์เองก็ยึดมั่นในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนผ่านกลไกรัฐสภาด้วยการใช้เอกสิทธิ์การลงคะแนนเสียง รวมถึงการอภิปรายเพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปยังรัฐบาลผ่านการทำงานในระบบรัฐสภามาโดยตลอด จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานต่างๆมากมาย ซึ่งตัวเดียร์ขอน้อมรับทุกความเห็นเพื่อนำไปใช้แก้ไข ปรับปรุงการทำงานของตนเองต่อไป

 

ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ที่ทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขาว่า รัฐสภายังคงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อยู่หรือไม่? ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจปฏิเสธถึงข้อกังขาศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐสภา ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นฝ่ายไหนหรือสังกัดพรรคใด เมื่อสภาไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ผู้แทนประชาชนก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ

 

สุดท้ายนี้ เดียร์ตัดสินใจขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมทั้งขอขอบพระคุณพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและคณะผู้บริหารพรรคที่เปิดโอกาสการทำงานและให้ความเมตตามาโดยตลอด รวมถึงเพื่อนสมาชิก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและในสภาทุกๆคนค่ะ