9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี

13 ส.ค. 2565 | 10:15 น.
2.5 k

9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี : ความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ชี้ชะตาบิ๊กตู่ว่าจะได้ ไปต่อ หรือ พอแค่นี้ รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3809

ปมปัญหาวาระการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ  8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีข้อถกเถียงกันว่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557 หรือ 2560 ซึ่งขณะนี้ก็มีทั้งผู้ที่ได้ยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความแล้ว และกำลังยื่นอีกในสัปดาห์หน้า  


คนแรกที่ยื่นคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในคืนวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้

 ขณะเดียวกัน “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ก็มีมติร่วมกันที่จะใช้ช่องทางของ “รัฐสภา” เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ  8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยจะยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันพุธที่ 17 ส.ค.2565 นี้ 


บันทึกกรธ.ปม8ปีนายกฯ


อย่างไรก็ตาม เมื่อไปตรวจสอบเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน19 คน ชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 เกี่ยวกับประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ระบุว่า 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 154 โดยกําหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น 

โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตน เลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 

                            9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี
นอกจากนี้ ได้กําหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ตํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี 


แต่อย่างไรก็ตาม ได้กําหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตําแหน่ง จะไม่นํามานับรวมกับระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว


8 ปีนับรวมก่อนรธน.60


ทั้งนี้ ประธานกรรมการ (มีชัย ฤชุพันธุ์) กล่าวว่า ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดํารงตําแหน่ง นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

                        9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี
นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย


ประธานกรรมการ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” 


การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญ 250 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมี ระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี


สำหรับกรรมการ กรธ.ผู้มาประชุม ประกอบด้วย 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ 2. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ 3.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ 4.นายนรชิต สิงหเสนี 5.นายอุดม รัฐอมฤต 6.นางกีระณา สุมาวงศ์ 7.นางจุรี วิจิตรวาทการ 8.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่

                                          9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี

9.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 10.นายเธียรชัย ณ นคร 11.นายประพันธ์ นัยโกวิท 12.นายภัทระ คําพิทักษ์ 13.นายภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ 14.พลตรี วิระ โรจนวาศ 15.นายศุภชัย ยาวะประภาษ 16.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ 17.นายอัชพร จารุจินดา 18.พลเอก อัฏฐพร เจริญพานิช 19.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง สำหรับกรรมการผู้ไม่มาประชุม คือ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ (ลาการประชุม)

 

“สุพจน์”ลั่นไม่ใช่มติกรธ.


ขณะที่ล่าสุด นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ออกมาเปิดเผยผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงบันทึกรายงานการประชุมที่มีการแสดงความเห็นวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ในครั้งนั้นว่า ข่าวที่ออกเป็นบันทึกประชุมความเห็นของตนเอง และ นายมีชัย เเต่ไม่มีมติของ กรธ. โดยครั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็นในมุมมองของตนเอง  โดยอายุ 8 ปี นายกฯ นับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ เเต่สุดท้ายก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 


ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 500 ตามที่มีเอกสารเผยแพร่ทางสื่อ ตนไม่ได้เข้าประชุม จึงไม่ทราบรายละเอียด แต่เมื่ออ่านแล้วก็เห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของทั้ง 2 ท่าน คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยความเห็นนี้ไม่ได้ถูกสรุปเป็นมติของ กรธ. และไม่ได้ถูกนำไปบรรจุในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ 


“ฉะนั้นข้อความที่มีการนำเสนอผ่านสื่อ จึงเป็นความเห็นส่วนตัวของทั้งสองท่าน ไม่ใช่มติของ กรธ. เช่นเดียวกับผมที่มีความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ผู้ที่จะชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ยื่นคำร้องเข้าไป ศาลก็จะวินิจฉัยและชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมด” ดร.เจษฎ์ ระบุ

                                        9 อรหันต์ศาลรธน.กุมชะตากรรม“บิ๊กตู่”นายกฯ 8 ปี        

        
9 ตุลาการชี้ชะตาบิ๊กตู่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ชุดปัจจุบัน ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยปมปัญหาการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ครบ 8 ปีแล้วหรือยัง  ประกอบด้วย 


1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา


5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 6.ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ และ 9.นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ


อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 23 ส.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่บางฝ่ายมองว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ  ครบ 8 ปี เพราะเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วัน ที่ 24 ส.ค.2557 ตามรัฐธรรมนูญ 2557

 

ขณะที่บางฝ่ายมองว่าวาระ “นายกฯ 8 ปี” จะครบวันที่ 8 มิ.ย.2570 หากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 


ความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว “ศาลรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ชี้ชะตา “บิ๊กตู่” ว่าจะได้ “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” โปรดรอติดตาม...