กรมสรรพากร ตอบสั้นๆปม คดีภาษีหุ้นชินฯ "ขอหารืออัยการก่อน"

08 ส.ค. 2565 | 18:36 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 01:44 น.
1.4 k

"ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร" เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ปมคำพิพากษาแพ้คดี "ทักษิณ" กรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป บอกสั้นๆ "ขอหารือกับอัยการก่อน"

จากกรณีที่วันนี้ (8ส.ค.65) ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษา "ภาษีหุ้นชินคอร์ป"  ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะคดีกรมสรรพากร ในกรณีสั่งเพิกถอนการประเมินเก็บภาษีขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปฯ กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท  โดยพบการดำเนินการของกรมสรรพากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

 

ล่าสุดในวันนี้ เวลา 18.30 น. นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" สั้นๆว่า

 

"เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ต้องยอมรับในคำพิพากษาของศาล ส่วนการดำเนินการต่อไป ขอหารือกับอัยการก่อน โดยกรมสรรพากรพร้อมดำเนินการตามคำแนะนำของอัยการครับ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ศาลภาษีอากรกลาง อ่านคำพิพากษาคดีความแพ่ง หมายเลขดำ ภ.220/2563 ระหว่าง นายทักษิณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร จำเลยที่ 1 นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ จำเลยที่ 2 นายประภาส สนั่นศิลป์ จำเลยที่ 3 นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ จำเลยที่ 4 กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "ชินคอร์ป" จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ถือเอาการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ในฐานะตัวแทนเชิด เป็นการออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรในฐานะตัวการ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินต้องออกหมายเรียกไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินโดยตรง


แต่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับนิติกรรมที่ทำขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธ์ในหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ แต่อย่างใด โดยยังถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่

 

ประกอบกับนิติกรรมที่ทำขึ้นภายหลังจากนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธ์ในหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ฯแต่อย่างใด เพราะนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริง


ตามข้อกฎหมายมาตรา 19  จึงยังต้องถือว่า นายทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ดังกล่าวอยู่ ที่พวกจำเลยให้โจทก์เสียภาษี อย่างผู้มีรายได้พึงประเมินนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีผลทำให้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยยืนตามการประเมิน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยที่ 2-4 กระทำไปตามอำนาจหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว


ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีร่ำรยผิดปกติ กรณีอัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกผลที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ตกเป็ฯนของแผ่นดิน


ขณะที่ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นายทักษิณ ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ออกนโยบายเอื้อประโยชน์บริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ครอบครัวถือหุ้น ทำให้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ จึงให้ยึดทรัพย์สินในส่วนของนายทักษิณและครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน


หลังจากนั้นระหว่างปี 2549-2552 กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ทำนองว่าเป็นตัวแทนของนายทักษิณ จึงต้องเก็บภาษีจากคนทั้งสอง รวมวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท จนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีนี้