มหากาพย์ภาษีหุ้นชินฯ ศาลยกอุทธรณ์ ‘ทักษิณ’ ต้องจ่าย 1.7 หมื่นล้าน

04 ม.ค. 2564 | 14:00 น.
7.9 k

เปิดคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ "ทักษิณ" ที่คัดค้านการประเมินของกรมสรรพากรไม่ยอมเสียภาษีขายหุ้นชินคอร์ปวงเงินกว่า 1.7 หมื่นล้าน  คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ระบุชัด ข้ออ้างฝ่ายอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เจตนาไม่สุจริตหวังเลี่ยงภาษี ทำรัฐเสียประโยชน์ ไม่ให้งดหรือลดเบี้ยปรับ 

 

เปิด คำวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ ยกอุทธรณ์ของนายทักษิณ  ชินวัตร เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 หรือที่เรียกกันว่า ภาษีหุ้นชินฯ (ภาษีหุ้นชินคอร์ป) อันเกิดจากการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2549 โดยศาลฎีกาได้แจ้งถึงเอกสารเลขที่ สภ.3 (อธ.3)/309/2563 เป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของนายทักษิณ  ชินวัตร ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2560 เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2549 โดยคำวินิจฉัยนี้แยกย่อยออกมาเป็นหลายประเด็น มีนายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร นายประภาส สนั่นศิลป์  ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ ผู้แทนกรมการปกครอง ร่วมลงนามในคำวินิจฉัย

 

คำวินิจฉัยระบุว่า ให้ ยกอุทธรณ์ ซึ่งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภงด.12-03025250-25600328-001-00005 ลงวันที่ 28 มีนาคม  2560 เป็นเงินทั้งสิ้น 17,629,585,191.00 (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ให้ผู้อุทธรณ์นำเงินภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ไปชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นเงิน 17,629,585,191.00  บาท 00 สตางค์ (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทถ้วน) ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ทำไว้สองฉบับ  เก็บไว้ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หนึ่งฉบับ ส่งให้ผู้อุทธรณ์หนึ่งฉบับ ลงวันที่ 1 กันยายน 2563 

นายทักษิณ  ชินวัตร

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ ประเด็น 8.3 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า  หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง ผู้อุทธรณ์และคุณหญิงพจมานฯ ยังคงถือหุ้นชินคอร์ป ฯลฯ ในเวลานั้น พิจารณาในประเด็นดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับได้พิจารณาตามประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 2 จึงไม่พิจารณาในประเด็นนี้อีก 

 

ข้อ 9 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 ไม่มีการระบุเลขที่ใบแจ้งภาษีอากร ทำให้การยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษี ไม่สามารถระบุเลขที่ใบแจ้งภาษีอากร ในแบบคำอุทธรณ์ (ภ.ส.6) ได้ครบถ้วนถูกต้อง  หนังสือแจ้งภาษีฯ ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าในคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ได้มีการระบุเลขที่หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณา 

 

ข้อ 10 ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่า การประเมินภาษีผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบ การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม พิจารณาแล้วเห็นว่า การประเมินภาษีผู้อุทธรณ์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบ เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลรัษฎากรและเป็นธรรมแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น 

 

กรณีข้อเท็จจริงที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างเพิ่มเติมได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวไว้แล้วตามประเด็นที่ 1 ถึงประเด็นที่ 3 จึงไม่พิจารณาประเด็นดังกล่าวอีก สรุปการประเมินภาษีชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีมติ “ให้ยกอุทธรณ์เสียทั้งสิ้น” 

 

ในคำวินิจฉัยยังระบุด้วยว่า ประเด็นของดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์ผู้อุทธรณ์เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่แท้จริงที่ต้องเสียภาษีอากร  แต่ให้นายพานทองแท้ฯ และนางสาวพินทองทาฯ เป็นตัวแทนเชิดในการซื้อหุ้นชินคอร์ปจากแอมเพิลริชฯ นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด จึงมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรและทำให้รัฐเสียประโยชน์ จึงไม่งดหรือลดเบี้ยปรับ 
 

ประเด็นของดหรือลดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มได้ จึงไม่งดหรือลดเงินเพิ่ม 

 

ทั้งนี้ กรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปเกิดจากการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรที่เป็นเจ้าของกิจการ ให้กับกองทุนเทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 ยุคที่นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี มูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษีซึ่งในขณะนั้นให้เหตุผลไว้ว่า ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายเพราะเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่ต่อมา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด กระทั่งมีมติวันที่ 23 เม.ย. 2550 ให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีบริษัท แอมเพิลริช เนื่องจาก บริษัทแอมเพิล ริช (กรรมการบริษัทในขณะเกิดหนี้ภาษี คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในฐานะเป็นกรรมการบริษัท) ต้องเสียภาษีในฐานะเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งเงินปันผล เงินได้จากการขายหุ้น และการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ และภาระปลอดหนี้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมกับชี้ว่าทักษิณ คือ เจ้าของหุ้นชินคอร์ปตัวจริง ทำให้วันที่ 29 ธ.ค. 2553 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้กรมสรรพากรงดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของพิณทองทากับพานทองแท้จากแอมเพิลริช นอกตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากศาลฎีกาฯพิพากษาแล้วว่า เจ้าของหุ้นตัวจริงคือนายทักษิณ ชินวัตร

 

คดีดังกล่าวกลายเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อยาวนานกว่า 14 ปี และผ่านรัฐบาลที่ผลัดเปลี่ยนกันครองอำนาจหลายยุคสมัย กระทั่งวันที่ 28 เม.ย.2560 กรมสรรพากรนำหนังสือแจ้งประเมินภาษีจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 รวมเป็นเงินกว่า 17,629.58 ล้านบาท ไปติดไว้ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นบ้านพักของนายทักษิณ โดยเอกสารดังกล่าว ระบุว่า การประเมินภาษีครั้งนี้ เป็นการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12 ประจำปี 2549 อาศัยอำนาจตามมาตรา 20, 22 ,27 และ 61 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนายทักษิณมีเงินได้พึงประเมิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,899.27 ล้านบาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งคำนวณถึงวันที่ 31 มี.ค. 2560 รวมเป็นระยะเวลา 120 เดือน ทำให้มีเงินภาษีซึ่งนายทักษิณต้องจ่ายทั้งสิ้นรวม 17,629.58 ล้านบาท โดยให้ไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด แต่ตามกฎหมายนายทักษิณสามารถยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าว ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ

 

ทีมกฎหมายของนายทักษิณจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 คัดค้านการประเมินภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป และนำมาซึ่งการพิจารณายกอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้น