คดีซุกหุ้น จาก“ทักษิณ” ถึง“ศักดิ์สยาม”

24 ก.ค. 2565 | 14:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2565 | 00:01 น.
4.2 k

จากคดีซุกหุ้นของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในอดีต มาถึงยุคปัจจุบันที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ถูกกล่าวหา หากเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว ผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นไรมารอลุ้นกัน


ผลพวงจากการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่จะมีการเดินหน้ายื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบเพื่อเอาผิดต่อไปนั้น เบื้องต้นที่ “พรรคฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นให้ ป.ป.ช.สอบต่อก็คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย


กล่าวหา”ศักดิ์สยาม”ซุกหุ้น


โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม โดยกล่าวหา นายศักดิ์สยาม ปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ 

ในการอภิปราย มีการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ว่า หจก.บุรีเจริญ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือ บ้านของ นายศักดิ์สยาม และเมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุค คสช. ศักดิ์สยาม ก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ บุรีเจริญ ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง


จนเมื่อปี 2561 ที่มีการเลือกตั้ง นายศักดิ์สยาม ก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้ นอมินี ในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน 

 

 

ต่อมาวันที่ 20 ก.ค.2565 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีซุกหุ้นโดยให้ “นอมินี” ถือกิจการแทน นายศักดิ์สยาม ว่า  นายศักดิ์สยาม ได้ชี้แจงกรณีที่ตนได้อภิปรายไป และมีการแสดงหลักฐานว่า มีการจ่ายเงินโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จริงในราคา 120 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งตนได้อภิปรายไปว่า หจก.ที่มีสินทรัพย์มีรายได้มากขนาดนี้ การซื้อขายกันแค่ 120 ล้านบาท ในราคาทุนมันดูไม่สมเหตุสมผล 


เมื่อขายไปแล้ว หจก.แห่งนี้ก็กลับมาได้งานของกระทรวงคมนาคม ในขณะที่ นายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่งอยู่ มูลค่าเป็น 1,000 ล้านบาท ซึ่ง นายศักดิ์สยาม จะบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่จะขายกิจการเท่าไร ตรงนี้ก็เคารพ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ แต่ส่วนที่ว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ ประชาชนคงจะตัดสินได้เอง ว่าการกระทำธุรกรรมครั้งนี้เป็น “นิติกรรมอำพราง” หรือไม่


“อีกประเด็นที่ผมได้ทิ้งไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ ถ้ามีการโอนเงิน 120 ล้านบาท แล้วมันหายไปไหนจากบัญชีทรัพย์สินของท่าน เพราะการซื้อขายนั้น เกิดขึ้นประมาณ 16 เดือน ก่อนที่จะมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น”


และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีการโอนเงินค่าหุ้นงวดแรกก่อนที่จะโอนหุ้นจริงๆ ถึง 5 เดือน ซึ่งเป็นการซื้อขายที่แปลกมาก คือจ่ายเงินก่อน แต่ยังไม่มีการโอนหุ้นให้กัน ต้องเชื่อใจกันมากแน่ 


“หจก.แห่งนี้ ท่านรัฐมนตรีขายหรือโอนออกไปต้นปี 2561 ซึ่งถ้าย้อนไปดูปลายปี 2560 หจก.แห่งนี้ เป็นเจ้าหนี้หุ้นส่วนผู้จัดการ 69 ล้านบาท คือหมายความว่าก่อนที่จะโอนหุ้นออก นายศักดิ์สยาม เป็นหนี้ห้างหุ้นส่วนแห่งนี้ 69 ล้านบาท แต่พอถึงสิ้นปี 2561 จำนวนหนี้ยังเขียนเหมือนเดิมว่า เป็นเจ้าหนี้หุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ 69 ล้านบาท ทั้งที่หุ้นส่วนผู้จัดการเปลี่ยนชื่อไปแล้ว ก็เลยสงสัยว่ามีการโอนหนี้ออกไปหรือเปล่าตอนที่มีการขายหุ้นกัน”


3ปมสงสัยซุกหุ้น


นายปกรณ์วุฒิ ตั้งข้อสงสัยตอนที่ขายหุ้นกันมีการโอนหุ้นออกไปหรือไม่ โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ


1.ถ้าขายกันที่ 120 ล้าน และโอนหนี้ให้กับผู้จัดการคนใหม่ แปลว่า นายศักดิ์สยาม ได้กำไรจากการขายกิจการนี้ 69 ล้านบาท ต้องยื่นภาษี แต่นายศักดิ์สยามไม่ได้ยื่น  


2.ถ้า นายศักดิ์สยาม ไม่ได้โอนหนี้ออกไปแปลว่า หนี้นี้เป็นหนี้สินส่วนตัวของนายศักดิ์สยาม และต้องยื่นบัญชีต่อป.ป.ช. ซึ่งก็ไม่ได้ยื่นเช่นกัน 


3.ถ้าบอกว่า เอาเงินที่ขายหุ้นมาใช้หนี้ แต่ 1 ปีผ่านไปเจ้าของคนใหม่ก็ยังเป็นหนี้ หจก.อยู่ 69 ล้านบาท เท่าเดิมเป๊ะๆ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขนี้ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงและมีการจ่ายหนี้กันจริงและไม่ได้แสดงในบัญชีทรัพย์สินด้วย


“ผมคิดว่า นายศักดิ์สยาม ไม่มีทางออกเรื่องนี้ สิ่งที่ผมพูดมาพร้อมหลักฐานที่ได้อภิปรายไปน่าจะมัดตัว นายศักดิ์สยาม ได้ค่อนข้างแน่นพอสมควร ดังนั้น จึงหารือกับฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชาติ ที่อภิปรายเรื่องนี้เหมือนกัน เพื่อร่วมกันยื่นต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและสอบสวนการยื่นบัญชีทรัพย์สินและการถือครองธุรกิจที่ใช้นิติกรรมอำพราง เอาผิด นายศักดิ์สยามต่อไป” นายปกรณ์วุฒิ ระบุ


เมื่อมีเรื่องกล่าวหารัฐมนตรี “ซุกหุ้น” ขึ้นมาเป็นประเด็นและกำลังจะมีเรื่องส่งไปให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ทำให้นึกถึง “คดีซุกหุ้น” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

                                         

ย้อนคดี“ทักษิณ”ซุกหุ้น


โดยย้อนอดีตไป เมื่อวัน 3 ส.ค.2544  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ทักษิณ” พ้นผิดคดีซุกหุ้น ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง  

 

ต้นตอของคดีซุกหุ้นทักษิณ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2543 หรือ ป.ป.ช. ที่มี นายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน มีมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ชี้ว่า “ทักษิณ” จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540  ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา


จากนั้นกระบวนการไต่สวนก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางฝ่าย ป.ป.ช. มีตัวแทน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น  ขณะที่ “ทักษิณ” ต้องเปลี่ยนทนายหลายชุดเพื่อรับมือกับลีลาการซัก-ถาม ของ นายกล้านรงค์ ที่ถึงลูกถึงคน และ นายกล้านรงค์ อ้างถึง การตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่าระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 “ทักษิณ”มีการโอนหุ้นในหลายบริษัทให้กับคนขับรถ แม่บ้านและคนเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นการปกปิดอำพราง 


ส่วนทางฝ่าย “ทักษิณ”ต้องตั้งกระบวนท่าเพื่อรับการรุกของ ป.ป.ช. จนถึงขั้นต้องเชิญ นายประสิทธิ์ ดำรงชัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น และกรรมการเสียงข้างน้อย ให้เข้าเป็นพยานและให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า “ทักษิณ” ไม่น่าจะจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน


ต่อมา วันที่ 18 มิ.ย.2544 “ทักษิณ”ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องเข้าแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองเกี่ยวกับคดีดังกล่าว โดยยังยืนยันว่า การให้คนอื่นถือหุ้นแทน เป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติ

 

ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ “แบบฟอร์ม”การแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจน พร้อมกับมีประโยคเด็ดที่ลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้ การกระทำของตนและภรรยานั้น น่าจะถือเป็น “บกพร่องโดยที่สุจริต”


กระทั้งวันที่ 3 ส.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคำวินิจฉัยกลางในคดีนี้ ผลออกมา 8 ต่อ 7 เสียง ให้ “ทักษิณ” พ้นผิดในคดีซุกหุ้นอย่างหวุดหวิด โดยชี้ว่า ไม่ได้กระทำการปกปิด หรือ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ


ส่งผลให้ “ทักษิณ” ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา


พบ“ทักษิณ”จงใจซุกหุ้น


สำหรับเบื้องหลังการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น พบว่า ตุลาการเสียงข้างมาก 8 เสียงเห็นว่า “ทักษิณ” ไม่ได้กระทำการปกปิด หรือ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ  


บันทึกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า “ทักษิณ”ไม่มีเจตนาปกปิดทรัพย์สิน 8 คน  ประกอบด้วย นายกระมล ทองธรรมชาติ นายอนันต์ เกตุวงศ์  พล.ท.จุล อติเรก  นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายจุมพล ณ สงขลา และ นายสุจินดา ยงสุนทร 


ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 7 คน ที่วินิจฉัยว่า ทักษิณจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ประกอบด้วย นายประเสริฐ นาสกุล นายอมร รักษาสัตย์ นายสุจิต บุญบงการ นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอุระ หวังอ้อมกลาง และ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ


และพบว่า ในการลงมติ 8 ต่อ7 นั้น ตุลาการ 7 เสียงข้างน้อย ลงมติชัดเจนว่า “ทักษิณจงใจที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือจงใจซุกหุ้น” 


มีตุลาการเพียง 4 เสียงเท่านั้น ที่วินิจฉัยและลงมติว่า “ทักษิณ” ไม่จงใจซุกหุ้น และมีตุลาการอีก 4 เสียง ไม่ได้พิจารณาในข้อเท็จจริงว่า “ทักษิณ”จงใจซุกหุ้นหรือไม่ เพียงแต่ตุลาการ 4 คน อ้างว่า มาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้กับ “ทักษิณ”ได้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน 


จึงมีการนำเสียงตุลาการที่พิพากษาว่า มิได้จงใจซุกหุ้น 4 เสียง มาบวกกับอีก 4 เสียง ชนะคดีไปแบบหวุดหวิด  8 เสียง 

 

"ทักษณ"ไม่รอดถูกยึดทรัพย์


แต่แม้จะรอดจาก “ซุกหุ้น” ไว้กับคนใช้ คนรถ “ทักษิณ” กลับมาเจอจุดจบในเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก และมีการขายหุ้น บริษัท แอมเพิล  ริช อินเวสต์เม้นท์ จำกัด ออกไปให้ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนจะขายหุ้นชินคอร์ปออกไปในราคาหุ้นละ 179 บาท

 
โดย “ทักษิณ” เริ่มโอนหุ้นชินคอร์ปออกไป 32.9 ล้านหุ้น ให้แก่ บริษัท แอมเพิช ริชฯ  มาตั้งแต่ปี 2542 -2549 โดยระบุ "ขายในตลาดหลักทรัพย์" ในราคา 10 บาท แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า เป็นการซื้อขายนอกตลอด


เมื่อจะขายหุ้นให้เทมาเส็ก  ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน จึงมีการขายหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2543 กว่า 100 ล้านหุ้น รวมถึงกรณีที่บริษัท แอมเพิล ริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท/หุ้น ให้แก่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2549   


สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ยึดทรัพย์ “ทักษิณ” และยังถูกกรมสรรพากร ตามไปอายัดทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร อีก 12,000 ล้านบาท  


ต่อมาทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลาง จนชนะคดี เพราะศาลฎีกาตัดสินว่า นายพานทอแท้ และ นางสาวพิณทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้ต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับทั้งสองคน แต่ยึดทรัพย์ “ทักษิณ” ในส่วนที่เหลือแทน


จากคดีซุกหุ้นของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในอดีต มาถึงยุคปัจจบันที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ถูกกล่าวหา หากเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว ผลสุดท้ายจะลงเอยเช่นไร มารอติดตามกัน...