“ฝ่ายค้าน”ยื่นตีความ "บิ๊กตู่”นั่งนายกฯ 8 ปี 16-17 ส.ค.นี้

05 ส.ค. 2565 | 14:08 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2565 | 21:19 น.

หมอชลน่าน เผยพรรคร่วมฝ่ายค้าน เตรียมยื่นตีความ"บิ๊กตู่”ดำรงแน่งนายกฯ 8 ปี 16-17 ส.ค.นี้ ย้ำจะไม่นั่งเป็นองค์ประชุมสภาฯปมโหวต ก.ม.เลือกตั้งหาร 500

วันที่ 5 สิงหาคม  2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการยื่นตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า พรรค พท.รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านมีคณะทำงานพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งพิจารณาแล้วยืนยันว่าเรายื่นตีความแน่นอน แต่ที่ยังไม่ยื่นก่อนหน้านี้ เพราะต้องการยื่นในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด

 

ตอนนี้ได้ข้อตกลงแล้วว่า จะเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภา เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม ประมาณ 1 สัปดาห์ คือประมาณวันที่ 16 หรือ 17 สิงหาคม เรามองว่ายื่นเวลานี้ดีที่สุด เพราะหากปล่อยเลยไปเสี่ยงว่าการบริหารประเทศจะเสียหายได้
 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ส่วนกรณีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรค พท. ตั้งใจให้พิจารณาวาระ 2 วาระ 3 ไม่แล้วเสร็จตามกรอบ 180 วัน เพื่อให้กลับไปใช้ร่างกฎหมายเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้าสู่การพิจารณาที่มีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า

 

แนวทางนี้เป็นการใช้กลไกที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ตามมาตรา 132 เราเห็นว่าการกลับไปใช้ร่างแรกที่ ครม. เสนอเป็นแนวทางที่จะได้กฎหมายลูกเร็วที่สุด และได้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 ตามเจตนารมณ์ในการแก้รัฐธรรมนูญ

 

หากปล่อยให้รัฐสภาผ่านวาระ 3 ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทักท้วงหรือไม่ หากไม่ทักท้วงการหาร 500 จะถูกยื่นตีความอยู่ดี สุดท้ายกฎหมายอาจตกไป หรือหากไปล้มในการลงมติวาระ 3 ต้องมาเริ่มกระบวนการกันใหม่ อาจเป็นประโยชน์กับรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง
 

เราจึงต้องเลือกวิธีที่จะได้กฎหมายลูกออกมาโดยเร็วที่สุด และที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพรรค พท.นั้น ยืนยันว่าวิธีที่พรรค พท.เลือกใช้เป็นวิธีที่เปิดช่องไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญการไปเป็นนั่งร้านทำกฎหมายให้เผด็จการกับการไม่เป็นองค์ประชุมเพื่อต่อสู้ยับยั้งกฎหมายของเผด็จการอันไหนดีกว่ากัน เราเลือกการต่อสู้เพื่อล้มกฎหมายเผด็จการ

 

ยืนยันเรื่องนี้พรรค พท.ไม่ได้รวมหัวกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เราคิดของเราก่อน แต่สุดท้ายพรรคอื่นเข้ามาร่วมด้วย