เช็คเสียง "ขั้วรัฐบาล & ฝ่ายค้าน" ศึกอภิปรายล้ม "บิ๊กตู่" ง่าย-ไม่ง่าย 

19 ก.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2565 | 03:32 น.
1.7 k

การเมืองเดือด ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เช็คเสียง "พรรคร่วมรัฐบาล- ขั้วฝ่ายค้าน" หนุน "บิ๊กตู่" ไปต่อหรือพอแค่นี้ รู้ผล 22 ก.ค.65

สร้างแรงกระเพื่อมส่งสัญญาณกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกระลอกว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 19-22 กรกฎาคมนี้ จะไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก "พรรคเศรษฐกิจไทย" เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เดินเกมส์ให้ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายไผ่ ลิงค์ ส.ส.กำแพงเพชร สมาชิกพรรค ลาออกจากการเป็น กรรมการวิปรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนตอกย้ำว่า อยู่คนละขั้วยืนคนละข้างกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี 

 

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ วิเคราะห์ท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทยว่า ที่ผ่านมา พรรคเศรษฐกิจไทยร่วมรัฐบาลแต่ในนาม ไม่เคยหวังเสียงหนุนได้ วันนี้ ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังคงเล่นเกมตีกระทบให้เห็นว่า ไม่เอาแน่กับนายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขู่ไป ขู่มา ซึ่งตอนนี้พรรคเล็กบางส่วนก็เริ่มไม่เอาด้วยแล้วกับแผนของ ร.อ.ธรรมนัส โดยก่อนหน้านี้เคยยื่นเงื่อนไขขอกลับมามีตำแหน่งใน ครม. แต่ นายกฯ ไม่สนใจและไม่มีท่าทีรับเงื่อนไขจนถึงตอนนี้  

ฐานเศรษฐกิจ พาไปอัพเดทเช็คคะแนนเสียงพรรคขั้วรัฐบาล และ พรรคขั้วฝ่ายค้านกันเบื้องต้นว่า ด้วยจำนวนเสียงที่มีอยู่จะส่งผลต่อการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจจนสามารถล้มรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ลงได้หรือไม่ 

 

พรรคพลังประชารัฐ 100 เสียง

พรรคพลังประชารัฐ มี 100 เสียง หากตัด นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ออก จะเหลือ 99 เสียง อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคจะต้องคุมเสียงเอาไว้ให้ได้ทั้งหมดเพราะมี ส.ส.จำนวนหนึ่งที่สนิทชิดเชื้อกับ ร.อ.ธรรมมนัส ที่คิดแตกแถวเกิดขึ้นได้ 

 

พรรคภูมิใจไทย 65 เสียง

ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล เชื่อมั่นว่า สมาชิกทั้งหมดของพรรคโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน ซึ่งนายอนุทินเองก็เคยประกาศยืนยันสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ

พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ส.ส.พรรคจะเคารพมติพรรคอย่างเคร่งครัดเมื่อมีมติไปในทางใดแล้วสมาชิกพรรคจะไม่แตกแถว ยกเว้น นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม "รัฐบาลประยุทธ์" ของผู้บริหารพรรคมาตั้งแต่แรก ทั้งยังประกาศชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ 

 

ทำให้จำนวนเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์ จาก 51 เสียง เหลือ 49 เสียง เมื่อรวม 1 เสียงของ นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ราชบุรีแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะมีทั้งหมด  50 เสียง 


พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง

ภายใต้การนำของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีความชัดเจนในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ


เช่นเดียวกับ พรรครวมพลัง มี 5 เสียง โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั่งเก้าอี้ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังคงเหนียวแน่นในการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์  ขณะที่ พรรคชาติพัฒนา มี 3 เสียง อีก 1 เสียงที่แยกไปอยู่กลุ่ม 16 พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง อีก 2 เสียงแยกไปอยู่กลุ่ม 16 และพรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง

 

ที่น่าสนใจซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ คือ ส.ส.กลุ่มงูเห่า 11 เสียง แบ่งเป็น พรรคก้าวไกล 4 เสียง คือ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย, นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย, นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี  ซึ่งกลุ่มนี้เคยลงมติไว้วางใจให้กับ นายอนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมมนาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงมีแนวโน้มว่า กลุ่มนี้จะมาเติมเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย  

 

เช่นเดียวกับ พรรคเพื่อชาติ ซึ่งประกอบด้วย นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช, นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล, นางลินดา เชิดชัย และนายอารี ไกรนรา ซึ่งทั้งหมดนี้เคยลงคะแนนโหวตไว้วางใจให้กับ นายศักดิ์สยาม รมว.คมมนาคม มาแล้ว 

 

ในขณะที่มีอีก 3 เสียงจาก พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยแน่นอนแล้ว คือ นางผ่องศรี แซ่จึง, นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ และนายธีระ ไตรสรกุล ส.ส.ศรีสะเกษ

 

เมื่อนับรวม ส.ส.ขั้วรัฐบาล จำนวน 237 เสียง บวกกับ ส.ส.งูเห่า อีก 11 เสียง ทำให้จำนวนเสียง ส.ส. ที่โหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล จะมี 248 เสียง

 

พรรคขั้วฝ่ายค่าน รวมทั้งหมด 209 เสียง 

  • เพื่อไทย 133 เสียง 
  • ก้าวไกล 51 เสียง 
  • เสรีรวมไทย 10 เสียง 
  • ประชาชาติ 7 เสียง 
  • เพื่อชาติ 6 เสียง 
  • ปวงชนไทย 1 เสียง 
  • ไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง 


พรรคเศรษฐกิจไทย + กลุ่ม 16 รวม 36 เสียง ดังนี้ 

  • เศรษฐกิจใหม่               6  เสียง 
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย   2  เสียง
  • พลังท้องถิ่นไท              2  เสียง
  • พลังประชารัฐ                1   เสียง
  • ชาติพัฒนา                    1  เสียง
  • ครูไทยเพื่อประชาชน      1   เสียง
  • ไทรักธรรม                     1   เสียง
  • ประชาธิปไตยใหม่           1   เสียง 
  • ประชาภิวัฒน์                  1    เสียง 
  • พลเมืองไทย                  1    เสียง 
  • พลังชาติไทย                 1    เสียง 
  • พลังธรรมใหม่                 1   เสียง 
  • เพื่อชาติไทย                  1   เสียง 

 

เมื่อนับรวมจำนวนเสียง ส.ส. ขั้วฝ่ายค้าน ที่ 209 เสียง หักจำนวนเสียงสวิงโหวตในกลุ่ม ส.ส.งูเห่า อีก 11 เสียง ทำให้ยอดรวมของ ส.ส.ขั้วฝ่ายค้าน อยู่ที่ 198 เสียง เมื่อบวกกับจำนวนเสียง พรรคเศรษฐกิจไทย และ กลุ่ม 16 มียอดรวมอยู่ที่ 234 เสียงยังไม่เพียงพอที่จะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีเสียงอยู่ในมือ 248 เสียงลงได้ 

 

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นในวันที่ 19-22 กรกฎาคม รวม 4 วัน 63 ชั่วโมง แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 45 ชั่วโมง และรัฐบาล 18 ชั่วโมง ดังนี้

  • วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 00.30น.
  • วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30-00.30 น. 
  • วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.30-00.30 น. 
  • วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 23.30 น.
  • วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 เป็นวันลงมติ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น.