“เพื่อไทย”พล่าน! แก้เกมสูตรหาร 500 แตกแบงก์พัน

08 ก.ค. 2565 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2565 | 18:40 น.
502

สูตรคำนวณส.ส.หาร 500 “พรรคเล็ก”ตีปีก “ก้าวไกล”ได้ประโยชน์มากสุด “เพื่อไทย”พล่าน ส่อเดินเกม“แตกแบงก์พัน”ตั้งพรรค“ครอบครัวเพื่อไทย”ส่งเฉพาะบัญชีรายชื่อ พท.ส่งแบบเขต มั่นใจได้ส.ส.เกินครึ่งสภา

ในที่สุดที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ก็ได้ลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเรื่องที่เกี่ยวกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการลงมติรับสูตรหาร 500 คน หาค่าเฉลี่ย ส.ส.เพื่อให้ได้เกณฑ์พึงมีของส.ส.1 คน ตามข้อเสนอของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง โดยไม่เห็นชอบกับกรรมาธิการ(กมธ.) เสียงข้างมาก ที่ให้ใช้สูตรหาร 100 ด้วยคะแนน 392 ต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง 
  

ก่อนหน้านั้น ที่ประชุมรัฐสภา ได้พิจารณามาตรา 6/3 ที่กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอเพิ่มขึ้นใหม่ ให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้หมายเลขเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน จากเดิมที่ กมธ.เสียงข้างมาก เสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นคนละเบอร์กัน ผลการลงมติสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างน้อย ด้วยคะแนน 341 ต่อ 150 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ทำให้คงใช้วิธี มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นคนละหมายเลขกันเหมือนเดิม

สูตร500สกัดแลนด์สไลด์


ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการอภิปรายเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะผู้เสนอสูตรคำนวณ 500 ได้ระบุตอนหนึ่งว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเมืองในระยะที่ผ่านมาที่ ส.ส.มิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นตัวแทนพรรคการเมือง หรือเจ้าของพรรคการเมือง 


“หลักที่สำคัญคือ ระบบส.ส.พึงมี ที่เป็นระบบการคิดสัดส่วน ส.ส.ที่ยุติธรรมที่สุด พรรคใดได้คะแนนพรรคกี่ % ก็มีสิทธิได้ ส.ส.พึงมี ตามสัดส่วน % นั้น ในส่วนของการจัดสรรปันส่วนผสม ถือเป็นระบบที่ป้องกันการผูกขาดทางการเมือง เผด็จการรัฐสภา และจัดสรรส.ส.ให้กระจายแก่พรรคเล็กๆ ที่มีความพร้อม การเสนอเช่นนี้หลักสำคัญไม่ใช่เพียงแค่พรรคเล็กจะไม่สูญพันธุ์ แต่เป็นการสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคใหญ่ ที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี ไม่ได้ และทุกคะแนนเสียงต้องไม่ตกน้ำ” นพ.ระวี ระบุ

“ก้าวไกล”เอาด้วยหาร 500

 

สำหรับผลการลงมติของส.ส.มติเสียงข้างมากที่ให้พลิกสูตรคำนวณดังกล่าวพบส่วนใหญ่มาจากพรรพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย ที่พบว่าลงคะแนนไม่แตกแถวทุกคน ยกเว้น 3 ส.ส. ที่ไม่ปรากฏการลงคะแนน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายเอกราช ช่างเหลา และ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ 


พรรคประชาธิปัตย์ 34 เสียง, 6 พรรคเล็กร่วมรัฐบาล, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 5 เสียง, พรรคพลังท้องถิ่นไท 4 เสียง, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 เสียง, พรรคเศรษฐกิจไทย 2 เสียง

                                      “เพื่อไทย”พล่าน! แก้เกมสูตรหาร 500 แตกแบงก์พัน
ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่ร่วมสนับสนุนสูตร 500 ได้แก่ ก้าวไกล 47 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย 5 เสียง และ พรรคเพื่อไทย  7 เสียง ได้แก่ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น, นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์, นายธีระ ไตรสรณกุล, นายนิยม ช่างพินิจ , นางผ่องศรี แซ่จึง,  นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร, นายสุชาติ ภิญโญ ร่วมลงมติสนับสนุนด้วย ขณะที่มีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ลงมติสนับสนุนอีก 164 เสียง


“ก้าวไกล”ได้ประโยชน์  


นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย  ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “หาร 500 ใครได้ประโยชน์” ระบุว่า สูตรการคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ได้รับความเห็นชอบในวาระที่สองของการประชุมร่วมของรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 และไม่ลงคะแนน 4 เสียง 


1.ภายใต้ระบบนี้ พรรคที่ชนะในระบบเขตมาก จะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง ส่วนพรรคที่แพ้เลือกตั้งในระบบเขต หากมีคะแนนนิยมในบัตรใบที่สองมาก จะได้รับการจัดสรร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อมาก 


2.พรรคก้าวไกล อาจเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้มากที่สุด โดยอาจมีส.ส.บัญชีรายชื่อได้ถึง 30 คน 


3.พรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จะไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์ เพราะคราวก่อนเป็นระบบบัตรใบเดียว และพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนเขตทั้งหมด หากคราวนี้ส่งลงครบ 400 เขต น่าจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง


4.พรรคจิ๋ว อย่าเพิ่งคิดว่าจะได้อานิสงค์จากระบบนี้ เนื่องจากเค้กก้อนเล็กลง ดังนั้น แม้คะแนนเฉลี่ยเบื้องต้นคือ ประมาณ 70,000 คะแนน แต่การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากทุกพรรคในรอบแรก จะเกินจำนวน 100 คน ดังนั้นต้องใช้บัญญัติไตรยางศ์ เพื่อปรับให้ลงมาเป็นร้อยคน คะแนนต่ำสุดจึงอาจสูงขึ้น โดยอาจต้องมี คะแนนเสียง 100,000 เสียงจึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน


ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สภาผ่านสูตรคำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 สูตรนี้คือโอกาสของคนใหม่ๆ หัวสร้างสรรค์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านได้เข้าสู่การเมือง ลงตัวเสียที กับความคิดแรกที่ผมและ คุณกรณ์ ตั้งใจสร้างพรรคกล้า เป็นเวทีการเมืองใหม่

                                       

"เพื่อไทย"แตกแบงก์พัน

 

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ออกมาแสดงความเห็นภายหลังรัฐสภามีมติใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 ว่า ตนไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะมีหลายวิธีการ ซึ่งเพื่อไทยอาจจะตัดสินใจตั้ง “พรรคครอบครัวเพื่อไทย” ขึ้นใหม่ หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่าแตกแบงก์พัน ให้พรรคครอบครัวเพื่อไทยส่งบัญชีรายชื่ออย่างเดียว แล้วพรรคเพื่อไทยส่งเขตอย่างเดียว 


“เพราะหากพรรคครอบครัวเพื่อไทย ได้จำนวนเสียงเกิน 15 ล้านเสียง ก็จะทำให้ได้ส.ส.พึงมีได้ถึง 214 เสียง แต่ต้องมาคำนวณหาสัดส่วนส.ส.พึงมี ให้ได้เท่ากับ 100 คนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับปี 2562 ซึ่งจะทำให้พรรคครอบครัวเพื่อไทย ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด” 


ส่วนการตั้งครอบครัวเพื่อไทยขึ้นมาใหม่ จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง และการตอบรับของประชาชน และโพลที่พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะนำมาประกอบการพิจารณา 
แต่ต้องประเมินเชิงลึกเป็นรายพื้นที่ระดับเขต ถ้าอยากได้ 15 ล้านเสียง ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 35,000 เสียงต่อเขต ซึ่งหากทำได้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นพรรคครอบครัวเพื่อไทย ที่ส่งแต่บัญชีรายชื่อ ก็ไม่จำเป็นต้องได้ถึง 15 ล้านเสียง

                              “เพื่อไทย”พล่าน! แก้เกมสูตรหาร 500 แตกแบงก์พัน

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวยังไม่มีการคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ แต่หลังรัฐสภามีมติใช้สูตรหาร 500 ส.ส.ของพรรคมีความเห็นด้วย ซึ่งมั่นใจว่าหากใช้วิธีการดังกล่าว พรรคเพื่อไทย และพรรคครอบครัวเพื่อไทย จะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง


++++


สูตรหาร 500 จบที่ศาลรธน. 

 

แม้ “สูตรหาร 500” จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา แต่ทาง พรรคเพื่อไทย และสมาชิกรัฐสภาบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยโดยมองว่าอาจจะ “ขัดรัฐธรรมนูญ” เตรียมที่จะส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยต่อไป 


สำหรับขั้นตอตามกลไกของการตรากฎหมายลูกที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 เมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพ.ร.ป.ในวาระสามแล้ว กำหนดให้ต้องดำเนินการภายใน 15 วัน คือส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น หรือทักท้วง 

 

โดยขั้นตอนนี้ กกต.มีระยะเวลาดำเนินการ 10 วัน หากไม่ตอบกลับภายในเวลานั้น รัฐสภาต้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไป แต่หาก กกต.โต้แย้งกลับมา ซึ่งมีเพียง 2 เงื่อนไขให้โต้แย้ง คือ

 

1.ข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือ 2.ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ส่งคืน “รัฐสภา” เพื่อให้เปิดประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอภายใน 30 วัน
 

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีขั้นตอนต้องดำเนินการต่อตามมาตรา 145 คือ ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่มีจังหวะที่นายกฯ ต้องรอไว้ 5 วัน เผื่อมี “สมาชิกรัฐสภา” เข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างกฎหมายว่ามีข้อความขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นไม่ถูกต้องหรือไม่

 

อีกทั้ง ยังเปิดให้นายกฯ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เองด้วย หากเห็นความบกพร่องของร่างกฎหมาย
 

ในจังหวะที่รอไว้ 5 วันนี้เอง คือช่วงที่สมาชิกรัฐสภาจะเข้าชื่อเพื่อส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีคนที่จองคิวไว้แล้วคือ พรรคเพื่อไทย และ  “ไพบูลย์ นิติตะวัน พ่วงกับส.ว.” เพราะมองว่าสูตรหาร 500 ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91

 

 ตรงบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีคำสำคัญคือ “ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนของส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 100 คน” ดังนั้นความของร่างกฎหมายลูก จะเป็นอื่นไปจากกฎหมายแม่ไม่ได้

 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า การใช้เสียงข้างมากกระทำการตามอำเภอใจ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ และพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างมาตรา 128 ขัดรัฐธรรมนูญต่อไป