“สมคิด”รับเข็มเกียรติยศ“ม.ธรรมศาสตร์”สำนึกบุญคุณบ่มเพาะความรู้

27 มิ.ย. 2565 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 19:23 น.

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รับเข็มเกียรติยศ “ม.ธรรมศาสตร์” สำนึกบุญคุณบ่มเพาะความรู้ แนะวัยรุ่นฟังคำสอนคนรุ่นเก่าที่ผ่านกาลเวลามามันพิสูจน์ด้วยเวลา ต้องผสมผสานกันให้ทันสมัย

วันนี้ (27 มิ.ย.65) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี โดยมีพิธีมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2565 แด่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ โดย นายสมคิด รับมอบจากศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ทั้งนี้ในวารสารรายเดือนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Thammasat, A Monthly Magazine ประจำเดือนมิถุนายน 2565 เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายสมคิด โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า รางวัลนี้เป็นเกียรติยศสูงสุดในชีวิต เรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นเรื่องปกติ แต่การได้รับรางวัลเกียรติยศจากมหาวิทยาลัยที่จบมาเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตและการทำงานทั้งหมดมีคุณค่าต่อสังคม

นายสมคิด ระบุว่า ตนอยากบอกว่าเวลาที่เราเป็นวัยรุ่น เรามักคิดว่าสิ่งเดิมๆ ที่คนอายุมากสอนมันล้าสมัย นี่เป็นเรื่องปกตินะ เพราะถ้าเขาอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง แต่ตนโตขึ้นมาจนอายุขนาดนี้ คำแนะนำโบราณไม่มีสักข้อที่ผิด ของทุกอย่างที่ผ่านกาลเวลามา มันพิสูจน์ด้วยเวลา 

 

“เราต้องรับฟัง การที่คุณมีรากเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว คุณเคยเห็นต้นไม้ที่เติบใหญ่โดยไม่มีรากไหม มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วกับของใหม่มาผสมผสานกันให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” 

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ตอนนั้นตนอยากเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นตัวเองว่าต้องกล้าเข้าสู่การเมือง อย่าหลีกหนีการเมือง เพราะคนไทยส่วนหนึ่งมองว่าไม่ควรไปยุ่งให้เปลืองตัว แต่ตนมองว่าถ้าไม่พยายามส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าไป การเมืองมันก็ไม่ดี ต้องเอาคนดีให้เข้าไป ซึ่งถ้าเราทำตัวดี เราสะอาด ใครจะมาทำอะไรได้

 

“ด้วยมูลเหตุอันนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตผม แต่ชีวิตของการทำงาน เราเป็นแต่มนุษย์ปุถุชน การที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้ทุกอย่าง บางอย่างก็ทำได้พอสมควร การทำงานบางครั้งคุณไม่สามารถ Maximize แต่คุณต้อง Optimize หาจุดพอดี” นายสมคิด ระบุ


ทั้งนี้ธรรมศาสตร์มีวัฒนธรรมของตัวเอง มีประเพณี มีความเชื่อเป็นหลักแน่นแฟ้น มีศิษย์เก่าที่รักสถาบันมากๆ จนทุกวันนี้เปรียบเสมือนทรัพย์สินของชาติ เพราะสามารถบ่มเพาะบุคลากรและสร้างความรู้ใหม่ๆ แก่ประเทศไทยได้ ขออยากฝากถึงศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันทุกคนให้ช่วยกันรักษาธรรมศาสตร์เอาไว้