ไทยไฟเขียวร่วมปฏิญญา ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

15 มิ.ย. 2565 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 17:51 น.

ไทยไฟเขียวร่วมปฏิญญาปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจดิจิทัลได้เต็มที่

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เห็นชอบให้ไทยร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo - Pacific) ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส

 

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกัน

 

ทั้งนี้ ปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในประเด็น อาทิ 1. การส่งเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการส่งข้อมูล โดยให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่

 

2. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ความร่วมมือข้ามพรมแดน 3. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนมาตรฐานระดับสูงในด้านการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว เช่น (1) มีกรอบกฎหมายและนโยบายที่ครอบคลุม
 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

(2) ใช้สิทธิปัจเจกบุคคลดำเนินการกับข้อมูลของตนเองได้ (3) รักษาความปลอดภัยในการโอนถ่ายข้อมูลระหว่างประเทศ (4) การกำกับดูแลที่เป็นอิสระโดยหน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะ และมีระบบการชดเชยเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

 

4. ความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลและการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนที่น่าเชื่อถือ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกที่ได้รับการทาบทามให้ร่วมรับรองปฏิญญาร่วมฯ เนื่องจากไทยมีความร่วมมือด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะการจัดทำพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation: GDPR)