"ศุภชัย"นั่งประธานกมธฯ.กัญชา ลั่น!!ยึดประโยชน์ประชาชน ไม่เอื้อนายทุน

13 มิ.ย. 2565 | 14:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2565 | 22:16 น.

ประชุม"กมธ.ฯกัญชาฯ"นัดแรก เลือก "ศุภชัย ใจสมุทร" นั่งประธาน "ปานเทพ" โฆษกฯ ยันพร้อมรับฟังทุกความเห็น ยึดประโยชน์สูงสุดประชาชน ไม่มีมาตราใดเอื้อนายทุน


วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงถึงการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ… ว่า ที่ประชุมมีมติเลือกให้ตนเป็นประธานคณะกมธ.ฯ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผอ.สำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการคณะกมธ.ฯ

 

ส่วนตำแหน่งโฆษกคณะกมธ.ฯ มี 3 คน คือ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ และนายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างสำคัญ จึงจะมีการประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ วันจันทร์กับวันศุกร์

 

และมีการแถลงทุกครั้งที่มีการประชุม ซึ่งยืนยันว่าคณะกมธ.ฯ จะทำกฎหมายให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่เร็วที่สุด และจะเร่งรัดให้ทุกมาตราเป็นไปด้วยความสมบูรณ์ และรอบคอบที่สุด
 

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

 

“ผมแจ้งต่อที่ประชุมว่า เราเปิดพื้นที่เต็มที่ ถ้าท่านเห็นว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นไหนอย่างไรก็จะเอามาพิจารณา ทั้งหมดอยู่บนฐานความคิดว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด เราพร้อมรับฟังความเห็น

 

วันนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างของพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว แต่เป็นร่างของคณะกมธ.ฯ และยังเป็นร่างกฎหมายที่ทั่วโลกสนใจ วันนี้เราถูกจับตาอยู่ ผมฝากข้อห่วงใยต่อที่ประชุมคณะกมธ.ฯ ว่าเราจะแสดงให้ต่างประเทศเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีมาตรการให้สังคมปลอดภัยได้อย่างไร

 

และขอยืนยันว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีมาตราใดเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน” นายศุภชัย กล่าว

ขณะที่นายปานเทพ กล่าวว่า เราต้องเร่งรัดกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ช่วงสุญญากาศเหลือน้อยที่สุด ที่ประชุมคณะกมธ.ฯ เห็นเบื้องต้นในการหลักการว่า การดำเนินโยบายต้องคำนึงถึงมิติหลายด้าน ทั้งทางการแพทย์ และความเหลื่อมล้ำ ที่ทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น โดยให้ประชาชนทำธุรกิจกัญชาได้ทั่วถึงกว้างขวาง

 

รวมถึงการคุ้มครองความปลอดภัยของเยาวชนและกลุ่มเสี่ยง ส่วนข้อถกเถียงเรื่องสันทนาการ แม้ไม่ใช่วัตถุประสงค์เดิมของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็จะรับฟังความเห็นจากกมธ. และประชาชน ว่าสังคมจะมีการเรียนรู้ และรับมือสิ่งไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง เราหวังว่าเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ น่าจะเป็นกฎหมายที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค