“สนธิรัตน์” ชี้ค่าไฟแพงแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซต่ำเป้าจี้รัฐเร่งสางปัญหา

06 พ.ค. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2565 | 17:12 น.

“สนธิรัตน์” ชี้ปมต้นตอค่าไฟแพง เหตุแหล่ง ”เอราวัณ” ป้อนก๊าซให้โรงไฟฟ้าต่ำเป้า จนต้องนำเข้าก๊าซแพง แนะรัฐต้องเร่งจัดการ ก่อนค่าไฟดันต้นทุนสินค้าพุ่ง กระทบประชาชน

วันนี้ (6 พ.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค  “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก หลังจากการผลิตก๊าซแอลเอ็นจี ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย ในแหล่งเอราวัณไม่เป็นไปตามสัญญา ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซราคาแพงซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าแพงตามมา

 

“ไม่ใช่แค่ข้าวของราคาแพงอย่างเดียวนะครับ ค่าไฟก็อาจจะแพงขึ้นด้วยวันนี้ใครเดินซื้อของที่ตลาดคงพูดมามาคล้ายๆ กันว่า ของแพงขึ้น เกือบทุกอย่างปรับราคาขึ้น ทั้งผักสดของสด ของแห้ง ไม่รวมอาหารทั้งแกงถุงทำสำเร็จ ร้านตามสั่ง หรือ ร้านอาหารต่างๆ ก็ปรับขึ้นทั้งนั้น

 

แต่อีกเรื่องนึงที่ต้องบอกคือ ค่าไฟก็อาจจะแพงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นขึ้น ผลคือ ประชาชนอย่างเราต้องจ่ายค่าไฟที่มากขึ้นกว่าเดิม”

 

“สนธิรัตน์” ชี้ค่าไฟแพงแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซต่ำเป้าจี้รัฐเร่งสางปัญหา

ที่ค่าไฟจะแพงขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มีข้อมูลว่าปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าประมาณ 60% ซึ่งก็มีมาจากแหล่งในประเทศการนำเข้า และ LNG

 

แต่ตอนนี้การผลิตก๊าซของไทยเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตทำให้ปริมาณที่ผลิตได้เองในวันนี้ลดลงไปจากเดิมทำให้การผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันพึ่งพา LNG เป็นหลัก ต้องเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น อีกทั้ง LNG ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า มีความเสี่ยงหลายด้านที่ต้องบริหาร โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ต้องซื้อเข้ามา

 

เรื่องปริมาณที่ผลิตได้เองจากแหล่งเอราวัณนี่เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอย่างจริงจังเพราะการลดลงของปริมาณนี่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นนะครับ

 

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตามสัญญาการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาตินี่ ตามสัญญาแล้วแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิตตามสัญญาคือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ด้วยประเด็นเรื่องการเข้าพื้นที่ล่าช้าเพื่อรับช่วงต่อการผลิตของผู้ผลิตเก่ากับผู้ผลิตใหม่ (ล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2 ปี) ทำให้ปริมาณก๊าซที่คาดว่าจะส่งได้ลดลงเรื่อย ๆ

เพราะแหล่งก๊าซนี่ถ้าไม่มีการเจาะหลุมพัฒนาหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การผลิตลดลงไปตามลำดับ วันนี้ปริมาณการผลิตเท่าที่ได้รับทราบจากข่าวมาก็ได้ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงแรก

 

“เมื่อสมัยที่ผมยังรับผิดชอบบริหารเรื่องนี้ ได้เจรจากับคู่เกี่ยวข้องจนใกล้สำเร็จ ที่จะทำให้การส่งมอบพื้นที่สัมปทานเป็นไปอย่างราบรื่น แต่น่าเสียดายที่เมื่อผมออกมาเรื่องไม่ได้เป็นอย่างที่วางไว้

 

เท่ากับว่าก๊าซที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าหายไปเฉลี่ย 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบเป็น LNG ก็ประมาณ 2-3 ล้านตันต่อปี ซึ่งก็ต้องนำเข้ามา และด้วยราคาปัจจุบันเป็นราคาที่ต้องซื้อค่อนของสูง”

 

ดังนั้น การต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG นี้เองอาจมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายซึ่งอาจจะแพงขึ้น การบริหารจัดการการนำเข้าเป็นเรื่องที่ต้องคิด ไม่ใช่แค่การบอกให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ