“ชลน่าน”กางไทม์ไลน์ศึกซักฟอก คาดปลายมิ.ย. ชี้ถ้าจำเป็นต้องคุย"ธรรมนัส

25 เม.ย. 2565 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 00:29 น.

"หมอชลน่าน"กางไทม์ไลน์สภาฯ เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล ย้ำหากสร้างทางตันทางการเมือง จะทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย รับถึงเวลาจำเป็นต้องคุย "ธรรมนัส" รวมเสียงล้ม "ประยุทธ์" แง้ม 26 เม.ย.นี้ ฝ่ายค้านเคาะประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยความคืบหน้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ของพรรคฝ่ายค้าน ว่า ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จะมีการประชุมผ่านระบบซูม เพื่อกำหนดประเด็นการอภิปรายและติดตามความก้าวหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเนื้อหาที่จะอภิปราย จากนั้นจะได้ข้อสรุปว่าจะอธิบายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือจะอภิปรายทั้งคณะ

 

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาประเด็นและเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปราย มีประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง เป็นประธาน และคาดว่าพรรคฝ่ายค้าน จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกฎหมาย ได้เสนอรายงานต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 24 พ.ค.นี้ จากนั้นไป 1 สัปดาห์ รัฐสภาจะใช้เวลาในการพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา  
 

ขณะเดียวกัน ประเมินว่าร่างกฎหมายงบประมาณ จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ รัฐสภาจะได้พิจารณาช่วงกลางเดือนมิ.ย. ซึ่งฝ่ายค้านคาดหวังจะให้ร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ บังคับใช้ก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นช่วงปลายเดือนมิ.ย.หรือต้นเดือนก.ค. จะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

"ไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะมีการยุบสภาก่อนที่กฎหมายลูกจะจัดทำแล้วเสร็จหรือไม่ เนื่องจากอยู่ที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ และย้ำว่าหากรัฐบาลไปสร้างทางตันทางการเมือง หรือเดดล็อกทางการเมือง จะทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย หากยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหา" นพ.ชลน่าน กล่าว 

 

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังอ้างอิงถึงวงในคนการเมืองไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่การล้มล้างประเด็นการยื่นตีความวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และย้ำว่าอย่างน้อยต้องให้มีการจัดทำกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งแล้วเสร็จไปก่อนถึงจะมีการยุบสภา 

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า หากสภาผู้แทนราษฎรเอาจริงเอาจังไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อ ก็ไม่รับร่างกฎหมายงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2566 รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ต้องพูดถึง ซึ่งเชื่อว่าก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากมีเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่รับร่างกฎหมายงบประมาณ นั่นหมายความว่ามีการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว ว่ารัฐบาลไปต่อไม่ได้ 

 

ก่อนจะสรุปทิ้งท้าย 3 ประเด็นใหญ่ ที่จะชี้ชะตาอนาคตของรัฐบาล 1.การพิจารณารับหลักการร่างกฏหมายงบประมาณปี 2566 2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และ 3.การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ 

 

สำหรับการประสานเสียง ส.ส. ในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะร่วมโหวตในทิศทางเดียวกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านนั้น นพ.ชลน่าน คาดหวังว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นปัจจัยโน้มน้าวชักจูงให้ ส.ส.ราว 30 คน ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการประสานพรรคการเมืองใด แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อบ้านเมือง ก็ถือเป็นวิธีการที่ไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ว่าจะพูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจไทยหรือพรรคการเมืองใด 

 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามีโอกาสพูดคุยกับพรรรคเศรษฐกิจไทยของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในมิติทางการเมืองเราต้องพยายามอยู่แล้ว เราไม่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่หลายพรรคต้องรักษามารยาททางการเมือง เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หากจะออกมาทำอะไรโจ่งแจ้งก็จะกระทบการทำงานได้

 

เมื่อถามว่า มีโอกาสเกิดแผนล้มพล.อ.ประยุทธ์ อีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่ได้อยู่ฝั่งรัฐบาล แต่สถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างอ่อนไหว มันปรากฏการณ์พรรคการเมืองปล่อยให้ ส.ส.ลาออก หรือย้ายพรรค เลือกตั้งซ่อมก็ไม่ส่ง มันเป็นสัญญาณเสมือนว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่ยาว