เปิดประวัติ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ สู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.2565

31 มี.ค. 2565 | 12:10 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 19:11 น.
7.7 k

เปิดประวัติ "สกลธี ภัททิยกุล" สลัดเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม. ลุยศึกเลือกตั้งเปิดหน้าท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.2565 ในนามอิสระ

นายสกลธี ภัททิยกุล เป็นว่าที่ผู้สมัครอีกรายที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตัดสินใจสละทิ้งเก้าอี้จากรองผู้ว่าฯเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ด้วย นายสกลธี หรือ "รองจั้ม" คำเรียกติดปากของผู้สื่อข่าวสาย กทม. ปัจจุบันอายุ 44 ปี ลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามอิสระ เป็นอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

 

จบการศึกษาในระดับมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าและมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ในอดีตเคยรับราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ดึงตัวให้ไปช่วยงานในฐานะเลขานุการส่วนตัว ขณะเดียวกันนายสกลธี เป็นผู้จัดการทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2009 ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว และเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กว่างโจว ประเทศจีน

 

ต่อมาปี 2550 ลาออกจากราชการไปสมัครสนามการเมืองใหญ่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขต 4 (จตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่) คู่กับนายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทั้ง 3 คนได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.

 

เปิดประวัติ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ สู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.2565

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 นายสกลธี ลงในพื้นที่กรุงเทพฯ เขต 11 (หลักสี่) โดยมีคู่แข่งคือ นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ผลปรากฏว่า สอบตก

ช่วงปี 2556-2557 ในชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นายสกลธีเป็นแนวร่วมสำคัญ และเป็นแกนนำชุดเคลื่อนที่เร็วร่วมกับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายชุมพล จุลใส และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จนได้ฉายาว่า "สี่ทหารเสือ" และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวระหว่างเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหมายศาลในข้อหาการชุมนุม แต่ได้ถูกประกันตัวไปในวงเงิน 600,000 บาท

 

ต่อมาในเวลาไม่นาน หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง นายสกลธี ยังคงต้องขึ้นศาลในข้อหากบฏที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทิ้งไว้ให้กับรรดาแกนนำม็อบทั้งหลาย รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และผู้ต้องหารวม 58 คน แต่นายสกลธีโชคดีกว่าคนอื่น เมื่อการต่อสู้คดีที่ยาวนานสิ้นสุดลงด้วย ศาลพิพากษายกฟ้อง

 

นายสกลธี ถือเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญที่มีส่วนช่วยปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ คู่กับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ คนปัจจุบัน

 

น่าสนใจว่า นายสกลธีถือเป็นน้องรักของทั้ง นายณัฏฐพล และนายพุทธิพงษ์ รวมถึงสนิทสนมกับนายชัยวุฒิ เป็นเพื่อนกินเพื่อนเที่ยว ร่วมก๊วนตีกอล์ฟกันเป็นประจำ มีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐในช่วงเวลาสั้น ๆ ตอนที่ "ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์" ยังมีบทบาทในพรรคและยังไม่หลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี

 

หากมองลึกลงไปแล้ว ในฐานะนายสกลธีเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร ปี 49 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และยังเป็นอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วินัย นับว่าเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสกลธี จึงมีศักดิ์เป็นอาหลานไปโดยปริยาย

เปิดประวัติ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ สู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.2565

ขณะที่ พล.อ.วินัย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับว่ามีความใกล้ชิดกันมากพอสมควร เนื่องจากผ่านภารกิจสำคัญมาด้วยกันในการโค่นอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 254 ดังนั้น แม้ว่านายสกลธี จะประกาศลงในนามอิสระแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับคนทั้งสอง คือ อาตู่ และ อาป้อม ที่อาจช่วยหนุนให้เขาเดินไปถึงฝั่งฝันได้