กฎเหล็ก ผู้สมัครผู้ว่ากทม. ติดป้ายหาเสียงอย่างไร ไม่ให้ถูกร้องเรียน 

30 มี.ค. 2565 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 18:22 น.
1.1 k

เปิดกฎเหล็ก ผู้สมัครผู้ว่ากทม.-สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ติดป้ายหาเสียงอย่างไร ติดที่ไหน ไม่ให้ถูกร้องเรียน ที่นี่มีคำตอบ 

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยาเป็นวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เหล่าบรรดาผู้สมัครเริ่มติดป้ายประกาศหาเสียงกันอย่างคึกคัก ตามมาด้วยเสียงบ่นจากประชาชนว่า ป้ายหาเสียงของผู้สมัครหลายรายกีดขวางทางเดิน กระทั่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.หนึ่งในตัวเต็งผู้สมัครท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ต้องสั่งทีมงานปลดป้ายหาเสียงของตัวเองและทีม ส.ก.ออก

ฐานเศรษฐกิจ พาไปส่องประกาศ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กัน ฉบับแรก คือ ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อีกฉบับ คือ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีสาระสำคัญที่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.และผู้สมัคร ส.ก.พึงระวัง 

สถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.

1.กำหนดให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่หน่วยงานกำหนด จำนวน ดังนี้

  • ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง จัดทำได้ไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
  • แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง

2.หลักเกณฑ์และวิธีการปิดประกาศ การติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ดังนี้

  • จัดทำและปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร
  • จัดทำและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เชนติเมตร

3.สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งสามารถปิดประกาศในสถานที่ดังต่อไปนี้

  • บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขตปกครอง
  • บริเวณป้ายปิดประกาศของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
  • บริเวณป้ายปิดประกาศของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
  • วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครปิดประกาศตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น
  • ให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะปิดประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง แจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้น ๆ

4.สถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นระเบียบ สะอาด ปลอดภัย แข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือต่อยานพาหนะ

รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่กีดขวางทางสัญจร การจราจร และต้องไม่ติดทับซ้อนกับแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรายอื่น

พื้นที่หรือบริเวณ "ห้าม" ปิดป้ายหาเสียง 

  • บนผิวการจราจร
  • เกาะกลางถนน
  • สะพานลอยเดินข้าม
  • สะพานลอยรถข้าม รวมถึงส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร
  • ป้ายประกาศของทางราชการ
  • รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ
  • ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ในส่วนของเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนด
  • ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบภายในระยะ 10 เมตร
  • ตู้โทรศัพท์
  • ตู้ไปรษณีย์
  • อนุสาวรีย์
  • ป้อมตำรวจ
  • สุขาสาธารณะ
  • สนามหลวง
  • สวนหย่อม
  • สวนสาธรณะ
  • วงเวียนทุกวงเวียน
  • ถนนโดยรอบพระบรมมหาราชวัง
  • ถนนโดยรอบพระราชวังสวนจิตรลดา
  • ลานพระบรมรูปทรงม้า
  • ถนนราชดำเนินนอก
  • ถนนราชดำเนินกลาง
  • ถนนราชดำเนินใน
  • กรณีกำหนดเป็นถนนให้หมายความรวมถึงชอยที่แยกจากถนนด้วย 
  • การติดประกาศในซอยจะต้องมีระยะห่างจากปากซอยไม่น้อยกว่า 10 เมตร

5. ห้ามมิให้ผู้สมัครปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งนอกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ตนสมัคร

ทั้งนี้ หากผู้สมัครทำผิดกฎตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 ข้อ 19 และตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครฉบับนี้กำหนด

ให้หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจสั่งผู้สมัครให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจข้างต้นมีอำนาจรื้อถอน ทำลาย ปลดออก ปกปิด หรือลบข้อความ ภาพ หรือรูปรอยดังกล่าว หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ

โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครนั้น และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจนำมาเป็นเหตุในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดได้