“นิพนธ์"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตากยันน้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแน่นอน

17 มี.ค. 2565 | 17:47 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 01:09 น.

“นิพนธ์"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตาก ยันน้ำอุปโภค-บริโภค ไม่ขาดแน่นอนพร้อมเยี่ยมให้กำลังใจชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน

วันที่ 17 มีนาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดตากเพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจผู้ประสบวาตภัย และตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และ ไฟป่า หมอกควัน ในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310 รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอสามงาม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ รายงานภาพรวมของสถานการณ์ และร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย


นายนิพนธ์ และคณะ ได้เดินทางไปยังหมู่ 10 บ้านเด่นกระถิน ตำบลวังจันทร์ อำเภอสามเงา เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของสำรองจ่ายแก่ผู้ประสบวาตภัย จำนวน 20 ราย 

สำหรับสถานการณ์วาตภัยในพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 357 ราย 119 ครัวเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย อาทิ เสาไฟฟ้าล้ม และนอกจากนี้ยังมีพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

 

ต่อมา ได้เดินทางต่อไปยังเขื่อนภูมิพล เข้ารับฟังบรรยาสถานการณ์ภัยแล้ง และไฟป่า หมอกควัน ในพื้นที่จังหวัดตาก

                                  “นิพนธ์\"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตากยันน้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแน่นอน

สำหรับระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล ปัจจุบันมีระดับน้ำ  231.94 ม.รทก. มีปริมาณน้ำทั้งหมด 6,483.27 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้งาน 2,683.27 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด และอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน รวมถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ภาพรวมในปีนี้ มีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง ปัจจุบันจังหวัดตาก มีพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 9 อำเภอ 44 ตำบล 252 หมู่บ้าน สำหรับการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัด ได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งมอบหมายพื้นที่ให้หน่วยงานที่มีรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแจกจ่ายน้ำให้ผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่รับผิดชอบ


ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้จัดทำโครงการสูบส่งน้ำกักเก็บฤดูแล้ง ปี 64/65 จากแม่น้ำวัง  เพื่อนำไปกักเก็บไว้ในสระสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านยางโองน้ำ ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก 28,800 ลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,048 คน 274 ครัวเรือน และการกักเก็บน้ำ โดยจัดทำฝายกระสอบทรายชั่วคราวกั้นลำน้ำวังเป็นช่วงๆ จำนวนทั้งสิ้น 19 แห่ง ในพื้นที่อำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก ใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

                                           
นอกจากนี้ อำเภอได้แจ้งความประสงค์เป่าล้างบ่อน้ำบาดาลสาธารณประโยชน์ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทั้งหมด 5 อำเภอ จำนวน 45 บ่อ โดยมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตากเป็นหน่วยดำเนินการ


และการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดตากให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด 

                                                “นิพนธ์\"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตากยันน้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแน่นอน
หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบพื้นที่การเกษตร ให้เป็นเกษตรปลอดการเผา เตรียมความพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤติหมอกควัน หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย ผู้เผาป่าและเผาในพื้นที่โล่งรวมทั้ง ใช้และเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกิดไฟไหม้จาก


สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gisda) และข้อมูลคุณภาพอากาศ จากกรมควบคุมมลพิษ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เข้มงวดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เน้นดูแล 4 พื้นที่สำคัญไม่ให้เกิดการเผา ทั้งพื้นที่ ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์, พื้นที่เกษตรกรรม, พื้นที่ชุมชน/เมืองและพื้นที่ริมทาง ทั้งนี้ จังหวัดตากได้ประกาศห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565

                                                       
ต่อจากนั้น เมื่อรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์เสร็จสิ้น ก็ได้เดินทางมาดูปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 700 เมกะวัตต์ และทราบว่าในปีนี้ มีปริมาณน้ำสูงว่าปีที่ผ่านมาถึง 12 เมตร ไม่มีความน่ากังวลใจใดๆ


ต่อมา ได้เดินทางต่อไปยังฝายกระสอบทรายชั่วคราว หมู่ที่ 5 บ้านวังหวาย ตำบลวังหมัน อำเภอสามเงา โดยฝายดังกล่าว ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ซึ่งสถานการณ์น้ำในปีนี้ มีแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา


นายนิพนธ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อนำความห่วงใยจากรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มามอบให้พี่น้องประชาชน ประเทศไทยในตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับพายุฤดูร้อน ปัญหาภัยแล้ง และไฟป่า หมอกควันตามมา รัฐบาลเองได้มีความพยายามในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการออกมาตรการรองรับมาโดยตลอด 


พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในปีที่ผ่านมา และในส่วนของสถานการณ์น้ำปีนี้นั้น จากการรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ก็มีความมั่นใจและคลายกังวลไปได้ในระดับหนึ่ง 


ส่วนสถานการณ์ภัยแล้ง ตนได้ฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด สำรวจจุดแล้งซ้ำซาก หากมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการแก้ไขปัญหา ก็ให้บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อกระจายแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด 

                                       “นิพนธ์\"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตากยันน้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแน่นอน
นอกจากนั้นแล้วเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวควรดำเนินการสำรวจอ่างกักเก็บน้ำ จัดเตรียมภาชนะเก็บน้ำถาวร โดยอาจใช้งบประมาณของจังหวัดดำเนินการ ส่วนปัญหาหมอกฝั่นและฝุ่นละออง PM 2.5 เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายนายอำเภอ ปลัดอำเภอ หมั่นลงพื้นที่คอยสอดส่อง/ระวังพฤติกรรม พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจเป็นเหตุสุ่มเสี่ยงให้เกิดไฟป่า 


พร้อมสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล/เคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ของ ปภ. มาจอดในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการออกปฏิบัติงานได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง ปภ. จังหวัด และท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังพลคนขับ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการดูแลรักษาซ่อมบำรุงต่างๆ เครื่องจักรกลต้องมีความพร้อมและสะดวกคล่องตัวต่อการใช้งานตลอดเวลา และที่สำคัญหากเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ ให้ประสานขอใช้เฮลิคอปเตอร์ ของ ปภ. มาใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ได้อย่างทันท่วงที

                              “นิพนธ์\"รุดตรวจภัยแล้งจังหวัดตากยันน้ำอุปโภค-บริโภคไม่ขาดแน่นอน
นอกจากนี้ ตนในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเสมอมา พร้อมเน้นย้ำการดูแลขวัญกำลังใจและความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติงานต้องมาก่อน ส่วนในกรณีของตำบลหวังหมันนั้น ตนจะได้ดำเนินการประสานแจ้งความต้องการกับกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเร่งด่วนต่อไป