พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ในฐานะประธานกมธ. คมนาคม วุฒิสภา พร้อมด้วยผู้บริหารสายการบินนกแอร์ แถลงภายหลังหารือร่วมกันกรณีเส้นทางการบิน ดอนเมือง – เบตง ที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ โดย พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า คณะกมธ.ฯ ได้รับการประสานจากสายการบินนกแอร์ เพื่อขอชี้แจงประเด็นเส้นทางการบินจากดอนเมือง – เบตง โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ หลังจากวันนั้นประชาชนยังคาดการณ์ว่าสายการบินนกแอร์จะบินไปเบตง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ แต่ปรากฎว่าวานนี้ (16 มี.ค.) นกแอร์ยังไม่สามารถจัดเที่ยวบินลงไปได้
ส่วนวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) จะเป็นเที่ยวบินพิเศษโปรโมทเบตง แต่หลังจากนั้นยังไม่มีแผนแน่นอน ตนในฐานะประธานกมธ.ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลา 2 – 3 ปี โดยประสานกรมท่าอากาศยาน สำนักการบินพลเรือน และทางจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคจนได้รับใบอนุญาตให้สายการบินไปลงได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม และสายการบินนกแอร์ หารือร่วมกัน ซึ่งทางคณะกมธ.ฯ รับทราบปัญหาว่าหากสายการบินจะไปลงเบตง ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังน้อย นกแอร์ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายพอสมควร โดยนกแอร์ขอลดค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าธรรมเนียมการจอด ค่าธรรมเนียมนำร่อง ค่าธรรมเนียมสำนักงาน การบริการน้ำมันของอากาศยาน และลดภาษีสรรพสามิต
"เราประสานหน่วยงานที่เพื่อดูแนวทางช่วยเหลือ ส่วนปัญหาเรื่องการประกันรายได้ 75% หน่วยงานราชการยังติดขัดระเบียบที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และต้องเป็นมติของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ขณะที่นกแอร์คิดแล้วว่าถ้าไม่มีการประกันรายได้ก็จะไม่คุ้มทุน ทำให้สายการบินยังไม่สามารถเกิดเส้นทางประจำตามแผนเดิมได้ วันนี้ผู้บริหารนกแอร์ไม่สบายใจต่อเรื่องดังกล่าว จึงมาพบกับกมธ. เพื่อรับการประสานงานว่าจะให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ซึ่งต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป"พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว
ด้าน นายสุธี จุลชาต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า การเปิดสนามบินใหม่ โดยเฉพาะสนามบินที่ไม่เคยมีตลาดมาก่อนต้องใช้เวลาในการศึกษาตลาด นี่คือเหตุผลที่นกแอร์พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ ซึ่งโครงการสนามบินเบตงเราได้ยินชื่อมานาน พอจะเริ่มโครงการก็มีการระบาดของโควิด – 19 ทุกอย่างจึงถูกเลื่อนออกไป
กระทั่งช่วงนี้ที่กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราจึงพยายามเปิดตลาดให้ได้ แต่ระหว่างนี้มีการเลื่อนไฟท์มาตลอด ซึ่งอาจเกิดจากการประชาสัมพันธ์ไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุที่พรุ่งนี้ (18 มี.ค.) นกแอร์จะมีไฟท์กระตุ้นตลาดเบตง เพื่อให้ทุกคนทราบว่าสนามบินแห่งนี้เปิดแล้ว เราพร้อมแล้ว เหลือเพียงการสร้างตลาด ซึ่งขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
"เราจำเป็นต้องได้ลูกค้า จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน สถานการณ์โควิด – 19 ต้องใช้เวลาในการขอปรับแผนเพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน นกแอร์ยังพยายามที่จะให้เกิดสนามบินที่นี่ให้ได้ เพราะเราเล็งเห็นศักยภาพของสนามบินเบตง และเปิดตลาดทางใต้ของต่างประเทศ"นายสุธี กล่าว