เคาะเลือกตั้งผู้ว่ากทม.-นายกเมืองพัทยา 29 พ.ค. 65

07 มี.ค. 2565 | 13:06 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2565 | 20:56 น.

กระทรวงมหาดไทยจะเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ในวันพรุ่งนี้ (8 มีนาคม 2565)

หลังจากที่รอกันมานาน ว่าเมื่อไหร่คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะพิจารณาวันเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ล่าสุดมีความคืบหน้าจากกระทรวงมหาดไทย เตรียมส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ เพื่อเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในวันวันที่ 29 พ.ค. 2565 และเลือกจั้งนายกฯเมืองพัทยาในวันเดียวกัน ซึ่งหากครม.มีมติตามวันที่ทางกระทรวงมหาดไทยเสนอแล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีจะดำเนินการส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  โดยจะมีขั้นตอนภายในของกกต.ที่จะดำเนินการและประกาศให้มีการเลือกตั้งต่อไป

หากพิจารณาแล้วจะพบว่า มีบุคคลที่แสดงความจำนงค์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและได้รับคะแนนนิยมในอันดับต้นๆดังนี้

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์


ผู้สมัครที่เปิดตัวขอรับใช้คนกทม.เป็นคนแรก ลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนและปัญหาของคนกทม.มาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ใช้สโลแกน “เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”  แม้จะลงสมัครในนามอิสระ แต่ความนิยมในตัวของ ”ชัชชาติ” กลับนำมาเป็นอันดับ1 ทุกครั้งเมื่อมีการสำรวจโพล การลงสมัครในนามอิสระอาจทำให้หลายคนกังวลถึงฐานเสียงที่อยู่ในพื้นที่ แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน “เพื่อนชัชชาติ” ได้ลงพื้นที่ทำงานอยู่ตลอดทั้ง 50 เขต มีทีมงานกลุ่มอาสาสมัคร  คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ ที่ชัชชาติบอกว่า  “แม้จะอิสระแต่เข้มแข็งมาก”  บางคนกลับมองไปว่าคนกทม.ไม่ชอบ ”เพื่อไทย”  ชัชชาติจึงลงในนามผู้สมัครอิสระ โดยเขากล่าวว่า “เริ่มงานการเมืองที่พรรคเพื่อไทย ก็คงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำคือแบบนั้น แต่หลังออกจากพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคอีก"

อัศวิน ขวัญเมือง


พล.ต.อ.อัศวิน เป็นผู้ว่ากทม.คนปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งในยุคคสช. แม้ที่ผ่านมาจะมีความเคลื่อนไหวและข่าวลือหนาหูว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ยังไม่มีความชัดเจน แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่าจะเป็นตัวแทนลงสมัครในนามของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนและอาจลงในนามอิสระ ส่วนเจ้าตัวเองกล่าวว่า ยังมีเวลาในการตัดสินใจ โดยจะรอพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศ 3 วันก่อน ถ้าลาออกก็หมายความว่าจะลงสมัคร แต่ถ้าไม่ลาออกจนกว่าจะมีผู้ว่าฯ คนใหม่ ก็แปลว่าไม่ลงสมัคร ไม่เพียงแค่นั้น พล.ต.อ.อัศวินยังเจอข้อกล่าวหาจากทางพรรคไทยสร้างไทยว่าได้เปรียบ โดยมีอำนาจในการใช้งบประมาณต่างๆของกทม. ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งคนอื่นๆ และหากตัดสินใจจะสมัครลงเลือกตั้งก็ขอให้ลาออกทันที

 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์


จากนักวิชาการสู่สนามการเมือง หลังจากเปิดตัวเป็นทางการลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ กับสโลแกน เปลี่ยนกรุงเทพฯ “เราทำได้”  ก็เจอมรสุมรับน้องทางการเมืองเข้าไปหลายระลอก ตั้งแต่เป็นลูกศิษย์ของหลานไอสไตน์ มาจนถึงการยื่นเรื่องสอบทรัพย์สินที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าร่ำรวยผิดปกติ มีการเชื่อมโยงกับบริษัทที่ได้รับว่าจ้างจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี  และยังถูกคนในโซเซียลตั้งชื่อให้เป็น “ผู้ว่าทิพย์อีกด้วย”

 

 

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร


อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ตั้งสินใจทิ้งการเมืองระดับประเทศ มาลงสนามการเมืองท้องถิ่น  ลาออกจากส.ส.เมื่อวันที่ 4ก.พ. 65 ที่ผ่านมา  โดยหลายคนที่เป็นกองเชียร์และติดตามพรรคก้าวไกล รู้สึกเสียดายส.ส.ฝีปากกล้า ที่ถือว่าเป็นดาวสภาเมื่อมีการอภิปรายในช่วงที่ผ่านมา นายวิโรจน์กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นเหมือนคนมาสมัครงานใหม่ และอยากพิสูจน์ความสามารถในการบริหารงานเมือง มองว่ากทม.เสมือนสำนักงานใหญ่ที่ต้องดูแลผู้อยู่อาศัย ผู้ว่าฯกทม.เปรียบเสมือนผู้จัดการสำนักงาน โดยเมื่อตัดสินใจแล้วก็จะเดินหน้าทำงานร่วมกับส.ก.ของพรรคทันที  โดยหลังจากที่นายวิโรจน์ประกาศเสนอตัวชิงผู้ว่าฯกทม.ได้เปิดนโยบาย “กรุงเทพเมืองปลอดภัย”  หลังจากที่หมอกระต่ายถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย