มท.-กกต.เคาะวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม.-นายกพัทยา บ่ายวันนี้

21 ก.พ. 2565 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 18:03 น.

มท. เตรียมหารือกกต. กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม-นายกพัทยาบ่ายวันนี้ (21 ก.พ.)  ก่อนเสนอครม.พิจารณาเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุมครม.วันที่ 8 มี.ค.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการเตรียมประชุมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ช่วงบ่ายวันนี้ (21 ก.พ.) จะมีความชัดเจนเรื่องวัน การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งในส่วนกรุงเทพมหานคร และ นายกเมืองพัทยา หรือไม่นั้น ว่าวันนี้จะหารือการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งของส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกกต.และกระทรวงมหาดไทย ถ้าทุกอย่างพร้อมจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา

 

เมื่อถามย้ำว่า หากเรียบร้อยแล้วจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงวันที่ 8 มี.ค.นี้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หากพร้อม ขั้นต่อไปจะนำเข้าที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาแล้วแจ้งกลับไปยังกกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งว่าจะเป็นวันใด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งหลังรัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร(กทม.) และ เมืองพัทยา ในช่วงเดือนพ.ค.2565 ระดับคณะทำงาน 2 หน่วยงานได้มีการหารือกันก่อนหน้านี้และมีการจัดทำแผนการทำงานการเลือกตั้ง โดยเป็นที่คาดหมายว่า วันที่ 8 มี.ค. กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องเสนอต่อครม.เพื่อเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา

ช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. สำนักเลขาธิการครม.แจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ กกต.ทราบ และช่วงวันที่ 21-31 มี.ค. กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง กทม. และเมืองพัทยา โดยภายใน 5 วัน หลังจากกกต.ประกาศฯ ก็จะเริ่มการรับสมัคร

 

ในส่วนของวันเลือกตั้งนั้น มีการเสนอทั้งวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. และวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค.2565  ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมจะเห็นว่าวันใดเหมาะสม แต่คาดว่าหลังการประชุมจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

 

ปัจจุบันสำนักงานกกต.ประจำกรุงเทพมหานคร และสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดชลบุรี อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนที่จะเสนอกกต.วินิจฉัย และออกประกาศเพื่อให้มีผลใช้บังคับ ซึ่งเชื่อว่าจะทันกับการจัดการเลือกตั้งที่มีขึ้น

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะใช้เขตกรุงเทพมหานคร เป็นเขตเลือกตั้ง มี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 คน  ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะมีทั้งสิ้น 50 คน ตามจำนวนเขตปกครองทั้ง 50 เขต ที่เป็นเขตเลือกตั้ง  

 

ขณะที่เมืองพัทยา ทางสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดชลบุรี มีการเสนอรูปแบบการแบ่งเขต 3 รูปแบบให้กกต.พิจารณา โดยจะมีการเลือกนายกเมืองพัทยา 1 คน และสมาชิกสภาเมืองพัทยารวม 24 คน