ยันไทยยกระดับ ป้องกันโรค ASF ในสุกร เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 62

13 ม.ค. 2565 | 09:28 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 16:36 น.

โฆษกรัฐบาล โต้ เพื่อไทย อย่าขู่ รัฐบาลพร้อมชี้แจงในสภาฯ ย้ำไทยยกระดับป้องกัน ASF เป็นวาระแห่งชาติปี 62 ชะลอผลกระทบโรคระบาดในสัตว์ ทุ่มงบกว่า 1,547 ล้านคุมระบาด ท้าถ้าพบปกปิดข้อมูลให้ดำเนินการได้

วันที่ 13 ม.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรและปัญหาราคาสุกรแพงว่า รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีมาตรการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการระบาดของโรค ASF ในสุกรทันทีที่ได้รับรายงานครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียที่ประเทศจีน เมื่อปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมการเผยแพร่ระบาดโรคในสัตว์ทันที และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 5 ครั้งกว่า 1,547 ล้านบาท เพื่อระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรค AFS ในสุกร


 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนภาครัฐและสถาบันการศึกษา ที่จะร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งหากสำเร็จไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกในการผลิตวัคซีนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาด้วย

นายธนกร กล่าวอีกว่า คณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกร จัดทำแผนควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contingency Plan)และแนวเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline) มีการจัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย และซ้อมแผนรับมือโรคฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูลการระบาดที่ประเทศจีนและเวียดนามมาทำแผนที่ความเสี่ยงด้วยวิธีการ Spatial Multi-criteria Decision Analysis (S-MCDA) เพื่อใช้ระบุพื้นที่เสี่ยงในการดำเนินการเฝ้าระวังทางอาการทางคลินิก รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่น อี-สมาร์ทพลัส พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ก็สร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ทราบว่าโรค ASF ในสุกรเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ทำให้มีอัตราการตายสูง แต่ไม่ติดต่อสู่คน เนื้อสุกรสามารถบริโภคได้ ทั้งนี้ ภาคเอกชนเข้าใจสถานการณ์ที่ไทยได้มีการเปิดเผย การพบโรค ASF ในไทยเป็นอย่างดี โดยรองประธานหอการค้าไทยมั่นใจว่า จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของสินค้าไทย รวมทั้งการซื้อ-ขาย ส่งออก หรือ การบริโภคเนื้อหมู เพราะทราบดีว่าสามารถพบและมีโอกาสในการเกิดโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งประเทศไทยเองยังมีพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์บังคับ พ.ศ. 2558 ที่มีการกำหนดมาตรการเยียวยาเกษตรกร การชดเชย รวมถึงวิธีปฏิบัติทำลายซากสัตว์ที่ชัดเจน

“นายกรัฐมนตรีใส่ใจตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาได้กำชับหน่วยงานเฝ้าระวังและควบคุมการลักลอบนำสัตว์ข้ามพรมแดน การเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่ รวมทั้งการเยียวยาให้แก่เจ้าของฟาร์มรายย่อย จากมาตรการทำลายสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรค ทำให้ไทยสามารถป้องกันความรุนแรงโรค ASF ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการระบาดของโรคไปแล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน และรักษาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหมูซึ่งที่เป็นเนื้อสัตว์ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย

 

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องออกมาขู่ หากจะนำเรื่องเข้าหารือในสภาฯ ก็สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมชี้แจงในสภาฯ อยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องปกปิดข้อมูลใดๆ แต่ต้องไม่ใช่ว่า ฝ่ายค้านสร้างความสับสนไว้ แต่พอได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากรัฐบาลแล้ว กลับไม่ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจในข้อมูลผิดๆ ที่ตัวเองพูดไว้ แบบนั้นถือว่าไม่รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง"นายธนกร กล่าว