“บิ๊กตู่"ปลื้ม บัตรคนจน-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยอดจ่ายพุ่ง 2.5 แสนล้าน

04 ม.ค. 2565 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2565 | 02:11 น.
641

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯยินดี เสียงตอบรับโครงการ "บัตรคนจน-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้" สร้างเม็ดเงินใช้จ่ายพุ่งกว่า 2.5 แสนล้านบาท เตรียมลุยต่อเฟส 4

วันที่ 4 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความยินดีที่กระแสตอบรับจากประชาชนพอใจและชื่นชอบมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ปี 2564 ของรัฐบาล โดยทั้ง 4 โครงการ ได้แก่


1.    โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 (บัตรคนจน)

2.    โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

3.    โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (คนละครึ่ง เฟส3)

4.    โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

สิ้นสุดระยะเวลาการใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รายงานตัวเลขยอดการใช้จ่าย มีผู้ใช้สิทธิสะสมทั้ง 4 โครงการรวม 41.5 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะสมทั้งหมด 254,281.7 ล้านบาท 

 

โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้

1.    โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 (บัตรคนจน) มีผู้ใช้สิทธิสะสมประมาณ 13.55 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 24,010 ล้านบาท

2.    โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ใช้สิทธิสะสมประมาณ 1.51 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 2,183.3 ล้านบาท

“บิ๊กตู่\"ปลื้ม บัตรคนจน-คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยอดจ่ายพุ่ง 2.5 แสนล้าน

3.    โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 10.87 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 109,985.8 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 88,712.9 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 36,037 ล้านบาท ร้าน OTOP 10,843.2 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 84,160.7 ล้านบาท ร้านบริการ 3,900.1 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 267.9 ล้านบาท

 

4.    โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชน 3,827.4 ล้านบาท มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 3,064 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 353.8 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายสะสมส่วน e-Voucher 339.2 ล้านบาท
มียอดใช้จ่ายสะสมรวมส่วนประชาชนและ e-Voucher แบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่

•    ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 197.6 ล้านบาท
•    ร้านธงฟ้า 214.4 ล้านบาท ร้าน OTOP 441 ล้านบาท
•    ร้านค้าทั่วไป 3,167.6 ล้านบาท
•    ร้านบริการ 146 ล้านบาท
 
ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มีมาตรการช้อปดีมีคืน 2565 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566

 

โดยผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่เพิ่งสิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.64 สามารถไปใช้สิทธิ์โครงการช้อปดีมีคืนได้
ล่าสุด ครม. ได้เห็นชอบโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 แล้ว มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทยขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการและการปรับปรุงระบบ “คนละครึ่งเฟส 4” ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.- 30 เม.ย. 2565 ซึ่งเบื้องต้นผู้ได้สิทธิในโครงการ “คนละครึ่งเฟส 3” จำนวน 27.98 ล้านราย ต้องกดยืนยันตนอีกครั้ง ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ส่วนผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนจะต้องสมัครผ่านทางเว็บไซต์ คนละครึ่ง.com เหมือนที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม จะนำผลการดำเนินโครงการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19 ปี 2564 พิจารณาปรับปรุงเพื่อออกแบบโครงการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ผู้ที่ใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน สามารถใช้สิทธิ์มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 65 ได้อีก เพราะช่วงเวลาไม่ทับซ้อนกัน
 

“ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชมมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ ขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณท่านนายกฯ ในมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยประคับประคองการบริโภค ทำให้ประชาชนมีการวางแผนการใช้จ่ายที่ดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้คล่องตัวมากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal เศรษฐกิจชุมชนก็ค่อย ๆ ขยายตัว ประชาชน และร้านค้าได้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นไปตามความตั้งใจของรัฐบาลในการพลิกโฉมประเทศไทย เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมสู่อนาคต” นายธนกร กล่าว