ออกกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานทางทะเล สกัดถูกละเมิดสิทธิ์

10 ต.ค. 2564 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2564 | 17:28 น.

กระทรวงแรงงาน ออกกฎหมายลูก คุ้มครองแรงงานทางทะเลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ วางหลักเกณฑ์ระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล

วันที่ 10 ตุลาคม 2564 กระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง การระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงานและการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนประจำเรือและเจ้าของเรือพ.ศ. 2564 เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่แรงงานทางทะเลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ
     

นายสุชาติ ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานให้คุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับ มีเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตนจึงได้ลงนามออกกฎกระทรวงการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงานและการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนประจำเรือและเจ้าของเรือพ.ศ. 2564 ฉบับลงวันที่    17 กันยายน 2564 และราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่ เล่ม 138 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 กฎกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้ 

 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน และการนัดหยุดงาน การกระทำอันไม่เป็นธรรม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนประจำเรือและเจ้าของเรือ ซึ่งกำหนดให้มีขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การแจ้งข้อเรียกร้อง การตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาท และมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้ยังได้กำหนดห้ามเจ้าของเรือปิดงานหรือคนประจำเรือนัดหยุดงานในระหว่างที่มีการเดินเรือทางทะเล อีกทั้งคนประจำเรือมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าวว่า ข้อพิพาทแรงงานทางทะเลจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ และไม่มีการเจรจากันหรือเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อเรียกร้อง 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานทางทะเลพิจารณาข้อพิพาทฯ นั้น โดยต้องส่งคำชี้ขาดข้อพิพาทฯ ให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องทราบภายใน 3 วัน พร้อมทั้งแจ้ง  คำชี้ขาดข้อพิพาทฯ ต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้ทำคำชี้ขาดหรือเสนอข้อพิพาทฯ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งจะพิจารณาชี้ขาดภายใน 90 วัน โดยคำชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด มีผลใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องต้องปฏิบัติตาม หรือจะปิดงานหรือนัดหยุดงานตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยห้ามเจ้าของเรือปิดงานหรือคนประจำเรือนัดหยุดงานในระหว่างที่มีการเดินเรือทางทะเล 
 

และการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน ให้เจ้าของเรือซึ่งประสงค์จะปิดงานหรือคนประจำเรือซึ่งประสงค์จะนัดหยุดงาน แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน ในเรื่องของการพิจารณาการกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีเจ้าของเรือกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 94 ให้คนประจำเรือผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนและเมื่อได้รับคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายใน 90 วันนับแต่วันที่ ได้รับคำร้อง กรณีที่คนประจำเรือหรือเจ้าของเรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งมีสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน และหากไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
    

การแจ้งข้อพิพาทแรงงานทางทะเลผู้แจ้งสามารถยื่นคำร้องโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสามารถยื่นด้วยตนเองได้ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3