“ดร.มานะ”เปิด 8 เหตุผลที่เรื่องร้องเรียนป.ป.ช.พุ่ง-เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

09 ต.ค. 2564 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2564 | 23:51 น.
607

“ดร.มานะ”เฉลย 8 เหตุผล ทำไมจึงมีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช.จำนวนมากและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แนะพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนให้ดีกว่าปัจจุบัน

วันนี้( 9 ต.ค.64) ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ทำไมมีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช.เยอะมาก” ระบุว่า


มีคำถามว่า “ทำไมจึงมีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช. จำนวนมาก” และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงก่อนปี 2557 มีปีละสามพันกว่าคดี เพิ่มเป็นปีละ 8 - 9 พันคดีในปัจจุบัน ท่านประธาน ป.ป.ช. ก็ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลาปีเศษของการระบาดโรคโควิด – 19 ยังมีเรื่องร้องเรียนมากถึง 15,283 กรณี

เหตุผลที่ระบุได้ 

  1. มีเรื่องคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้นตลอดหลายปีมานี้  
  2. ความล้มเหลวของระบบร้องเรียนภายในหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของบุคคลที่ถูกร้องเรียน เช่น ก. เมื่อพบเห็นความผิดแล้วหัวหน้าหน่วยงานไม่ดำเนินมาตรการทาง “วินัยและปกครอง” ตามมติ ครม. ทำให้เรื่องคาราคาซัง ข. ร้องเรียนแล้วหัวหน้าหน่วยงานเรียกผู้ร้องเรียนมาไกล่เกลี่ย  ทำให้ความผิดไม่ถูกสะสาง ค. จงใจรอหรือปล่อยให้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. หรือ ตำรวจ ป.ป.ป. ซึ่งใช้เวลานานมาก ง. มีการช่วยเหลือกัน เช่น เปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลบางอย่าง
  3. ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้มีการร้องเรียนมากขึ้น เช่น มีการรณรงค์มากขึ้น มีการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ทุกจังหวัด สังคมมีระบบสื่อสารที่สะดวก มีโซเชี่ยลมีเดีย ที่ทำให้คนรู้เห็นและเข้าใจมากขึ้นว่าพฤติกรรมแบบไหนคือคอร์รัปชัน  
  4. บางเรื่องไม่ใช่คอร์รัปชัน หรือเป็นกรณีที่มีเพียงความผิดทางวินัย เช่น เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความสามารถ บกพร่อง ขาดความชัดเจนไม่โปร่งใส ทำงานข้ามขั้นตอน ฯลฯ 
  5. ผู้ร้องเรียนต้องการป้องกันตัวเอง หากกรณีนั้นถูกดำเนินคดีในภายหลัง หรือหวังได้รับการคุ้มครองจากรัฐหากมีการใช้อิทธิพล ข่มขู่คุกคาม หรือกรณีฟ้องปิดปาก
  6. มีการร้องเรียนซ้ำซ้อนจากหลายคนหรือเรื่องเดียวกันแต่ไปร้องเรียนหลายที่ สุดท้ายเรื่องทั้งหมดถูกส่งมา ป.ป.ช. 
  7. มีการร้องเรียนต่อเนื่องจากคดีอื่นที่เคยร้องเรียนแล้ว เช่น ผู้บังคับบัญชาละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่สอบสวนหรือไม่ดำเนินการทางวินัยและปกครองแก่ผู้ถูกร้องเรียนในเรื่องก่อนหน้านี้
  8. มีการร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น เช่น ไม่ให้ผู้ถูกร้องได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับการเสนอชื่อขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น

ข้อ 3 เป็นเหตุผลเดียวที่น่าดีใจนอกนั้นล้วนน่าเศร้า แนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้เขียนไว้ในแผนปฏิรูปฯ ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว เพียงแต่รอวันให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ   

มีข้อสังเกตว่า ในหลายประเทศที่ควบคุมคอร์รัปชันได้ดี เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จะให้ความสำคัญมากกับการจัดการปัญหาโดยหน่วยงานภายในองค์กร และมีหลักประกันแก่ผู้ร้องเรียนว่าทุกกรณีจะถูกจัดการอย่างเหมาะสม ขณะที่บางประเทศอย่าง อินโดนีเซีย หน่วยงาน ป.ป.ช. ของเขาจะเลือกทำคดีเฉพาะเรื่องใหญ่ มีผลกระทบสูงหรืออยู่ในความสนใจของสังคมเท่านั้น 


สำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนให้ดีกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ติดตามเรื่องได้ง่าย รวดเร็ว เรื่องถูกคัดกรองและส่งไปหน่วยงานผู้รับผิดชอบทันที 

ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจมากขึ้นกับการจัดการเรื่องร้องเรียนของ “บุคลากรในหน่วยงาน” รัฐและประชาชนที่ใช้บริการหรือ “อยู่ในพื้นที่” เช่น เทศบาลและจังหวัด เชื่อว่าจะส่งผลให้ คอร์รัปชันลดลงอย่างชัดเจน เพราะคนเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดและรู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าใคร

หมายเหตุ..

1.ขอบคุณข้อคิดเห็นดีๆ จากคุณประยงค์ ปรียาจิตต์และพลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์

2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ พ.ศ. 2563  

3. วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์และคณะ “ราชการไทยไร้คอร์รัปชัน: การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต” 2563