"ชัยวุฒิ”ยันไม่เอื้อประโยชน์ไทยคม-ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ทำลายล้างการเมือง

03 ก.ย. 2564 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2564 | 02:10 น.
632

อภิปรายไม่ไว้วางใจ “ชัยวุฒิ”แจงไม่เอื้อประโยชน์ “ไทยคม” ให้สัมปทานต่อ ระบุเอ็นที ไม่มีตัวแทนตลาดต่างประเทศ ตั้งเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยทำตลาดต่างประเทศ พร้อมโต้ก้าวไกล ไม่ใช้พรบ.คอมพ์ เป็นเครื่องมือทำลายล้างการเมือง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  กล่าวชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าการดำเนินการซื้อหุ้นอินทัชของกัลฟ์เกิดขึ้นก่อนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา เอื้อประโยชน์ต่อไทยคม   โดยในวันที่ 10 กันยายน 2564 ไทยคมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้รัฐ  4 ดวง  คือ ไทยคม 4 ,ไทยคม 6  , ไทยคม 7  และไทยคม 8  แต่เกิดกรณีข้อพิพาทไทยคม 7 และไทยคม 8  ซึ่งไทยคมระบุว่าไม่ได้อยู่ภายใต้สัมปทาน เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ซึ่งขณะนี้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ  ดังนั้นจึงเหลือดาวเทียมที่ส่งมอบ  2 ดวงคือไทยคม 4  และ ไทยคม 6 ในวันที่ 10 กันยายน 2564   ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด  หรือ เอ็นที  เป็นผู้บริหารในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา   

\"ชัยวุฒิ”ยันไม่เอื้อประโยชน์ไทยคม-ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ทำลายล้างการเมือง

โดยในการโอนทรัพย์สินไทยคมนั้นโอนมาเฉพาะตัวควบคุมดาวเทียมมาให้ ไม่ได้ส่งสถานีภาคพื้นดิน  เกตเวย์ หรือเทเลพอร์ตเซอร์วิส   ซึ่งสถานีภาคพื้นดินยังเป็นของไทยคม  โดยในการทำธุรกิจดาวเทียมยังใช้สถานีภาคพื้นดินส่งสัญญาณไทยคม ซึ่งเอ็นทีต้องเช่าใช้สถานีภาคพื้นดินของไทยคม  ขณะที่ไทยคม 4  นั้น ผู้ใช้บริการ  80%  เอ็นทีเป็นบริษัทตั้งใหม่ ไม่มีตัวแทนหรือพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ  ก็ได้แต่งตั้งไทยคม เป็นตัวแทนทำตลาดต่างประเทศ   ส่วนอีก 20% เป็นลูกค้าในประเทศ ซึ่งเอ็นที ได้ดำเนินการติดต่อตรงไปยังลูกค้าทุกราย   ส่วนไทยคม 6  ซื่งเป็นดาวเทียมบรอดแคสนั้น  34% เป็นลูกค้าต่างประเทศ ก็ให้ไทยคมเป็นตัวแทน หรือพาร์ทเนอร์ดูแลลูกค้าต่างประเทศ     

ทั้งนี้ไม่ได้ให้สัมปทานต่อหรือเอื้อประโยชน์กับไทยคม  โดยมอบนโยบายไป ผู้ใช้บริการต้องได้บริการต่อเนื่อง ถ้ามีความร่วมมือกับไทยคมได้ก็ทำ ถ้าดำเนินการเองได้ก็ทำ  และสิ่งสำคัญจะต้องคุ้มครองค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการ  ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า ไม่เปิดให้มีผู้ให้บริการรายใหม่นั้น กสทช. ได้เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม  ซึ่งมีผู้ยื่นรายเดียว คือ ไทยคม  ซึ่งผมได้ทำหนังสือยื่นไป กสทช. เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะมีผู้ยื่นประมูลรายเดียวให้ชะลอไปก่อน ท้ายสุด กสทช. ก็เลื่อนการประมูลออกไป จะเห็นว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์กับไทยคม     ส่วนกระบวนการตั้งอนุญาโตตุลาการ เป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ผมไม่ได้เข้าไปแทรกแซง เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ส่วนเรื่องข่าวปลอมนั้น  โซเชียลมีเดีย เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมาย ผมต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  การดำเนินการทั้งหมดเป็นเรื่องดูแลพี่น้องประชาชน ไม่ได้เอามาใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง  กระบวนการดำเนินการปิดกันเว็บไซต์นั้นอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาล ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลสั่งระงับการเผนแพร่

“ภารกิจหลักของผมในการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีดีอีเอส   คือปกป้องสถาบันหลักของชาติ ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์  ที่กำลังถูกบ่อนทำลาย โดยใช้โซเชียลมีเดีย ล้างสมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ มาใช้เป็นเครื่องมือการเมือง  เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง  ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศเข้าใจภารกิจกระทรวงทำ เพื่อรักษาความสงบสุขปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ต้องเข้มแข็ง คงอยู่เพื่อคนไทยทุกคน”