ลุย "เปิดประเทศ" ตุลาคมนี้ นายกฯแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

01 ก.ย. 2564 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 23:08 น.
605

นายกฯ ลุกขึ้นแจง 6 ประเด็น ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยันเดินหน้าเปิดประเทศตุลาคมนี้-ลุยเยียวยาทุกกลุ่ม ระบุ เศรษฐกิจไทย ไม่ได้แย่กว่าชาติอื่นในสถานการณ์โควิด 

วันนี้ (1 ก.ย.64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันการเปิดประเทศเดือนตุลาคมนี้ ตอนหนึ่งในการชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เข้าใจความเดือดร้อนของทุกฝ่าย รัฐบาลดูแลคนทุกกลุ่ม ทุกกิจกรรม ให้คนทั้งประเทศได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐ ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่กว่าประเทศอื่น อะไรที่ทำดีอยู่แล้วก็จะทำต่อ ที่ไม่ดีก็ต้องแก้ไขและเพิ่มมาตรการต่าง ๆ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ได้มีแผนการเพื่อเตรียมรองรับเมื่อโควิด-19 หมดไป ให้พร้อมดำเนินการได้ทันที 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกด้วยว่า ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนไม่ขึ้นกับใคร ขออย่าบ่อนทำลายความเชื่อมั่นและให้เข้าใจการทำงานของรัฐบาลที่เร่งแก้ไขปัญหาเดิม ปัญหาปัจจุบัน และวางแผนอนาคต ด้วย

ลุย \"เปิดประเทศ\" ตุลาคมนี้ นายกฯแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

1. การท่องเที่ยว รัฐบาลมีนโยบายท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ สำหรับการเปิดประเทศ 120 วัน เริ่มแล้ว Phuket Sandbox และเริ่มขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีเตรียมการและสามารถทำได้ภายในเดือนตุลาคม หากยังทำไม่ได้ก็ให้เปิดเป็นบางส่วน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง

 

2. การดูแลประชาชน  รัฐบาลมีมาตรการลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ กยศ. หนี้ผ่อนรถ ผ่อนบ้านต่าง ๆ การดูแลให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan ดูแลกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งเร่งแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้ มีประชาชนกว่า 30 - 40 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์  ซึ่งยังต้องเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มั่นใจว่าภายใน 4-5 ปี จะเห็นการพัฒนาจากโครงสร้างต่าง ๆ ที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง
 
3. ด้านการเกษตร รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกร เปลี่ยนแปลงการปลูกพืช พัฒนาปฏิรูปที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิต ปรับเปลี่ยนการผลิตตามศักยภาพตามพื้นที่ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาผลผลิตทางการเกษตร อบรมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร บริหารกองทุนเพื่อนการเกษตรและเงินเชื่อภาครัฐ ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้และบริหาร รวมทั้งมีการผลิต แปรรูป จำหน่ายผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าสินค้าการเกษตรให้มากขึ้น
ลุย \"เปิดประเทศ\" ตุลาคมนี้ นายกฯแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ  
4. การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยเร่งพัฒนาทักษะความรู้ในการประกอบธุรกิจ ให้ความสำคัญกับ Micro SMEs และ SMEs ทำให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาให้มีศักยภาพ ส่งเสริมให้ SMEs ขึ้นทะเบียน  แก้ไขปัญหาการเข้าถึงเงินกู้ Soft loan อบรมผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประการวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจ เพื่อเพิ่มทักษะในการประกอบการ SMEs 4.0 ส่งเสริมการค้าผ่าน e-Commerce ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

ยกระดับขีดความสามารถของประเทศรองรับการเจริญเติบโตในระยะยาวด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 ประเภท อุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างครบวงจร อุตสาหกรรมเป้าหมาย เศรษฐกิจ BCG  ปรับเปลี่ยนการลงทุน BOI ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
 

 5. การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน เน้นกำลังพลที่มีคุณภาพระยะยาวผ่านการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบพื้นฐาน ปรับการเรียนการสอน เพิ่มศักยภาพครู บุคลากรการศึกษารองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ขยายและพัฒนาหลักประกันทางสังคม ให้ความคุ้มครองลูกจ้างผ่านระบบการประกันสังคม คุ้มครองลูกจ้างในระบบประกันสังคมกว่า 12 ล้านคน

ลุย \"เปิดประเทศ\" ตุลาคมนี้ นายกฯแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

จัดการแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ประกันสังคม เสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ ปรับตัวและรับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ สร้างการรับรู้ด้านสุขภาวะ พร้อมพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ สร้างเครื่องมือและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

6. การต่างประเทศ รัฐบาลดำเนินนโยบายแบบสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจทุกมหาอำนาจ ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมในเวทีระดับประเทศทุกระดับ และได้รับการตอบรับจากผู้นำหลายประเทศด้วยกัน และได้นำการบริหารบ้านเมืองจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้อยู่เสมอ