สามเหลี่ยมดินแดง สมรภูมิเดือด!!! ‘ม็อบ’ปะทะ‘เจ้าหน้าที่’

21 ส.ค. 2564 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2564 | 22:53 น.

สามเหลี่ยมดินแดง สมรภูมิเดือด!!! ‘ม็อบ’ปะทะ‘เจ้าหน้าที่’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,707 หน้า 12 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2564

นับวันสถานการณ์การเมืองจะทวีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่องในเวทีสภา รัฐบาลต้องเผชิญกับศึกซักฟอก จากปมการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาด ล้มเหลว 

 

ขณะที่ “นอกรั้วสภา” กลุ่มมวลชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้สื่อออนไลน์ปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ขยายพื้นที่ต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์ จากราชประสงค์  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สู่สมรภูมิรบทางการเมืองแห่งใหม่ที่ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” และ “สามเหลี่ยมดินแดง”

 

จากราชประสงค์สู่“ดินแดง”

 

จะเห็นได้ว่า การชุมนุมของมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมา จะพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ลาออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในระยะหลังจะลดดีกรีความร้อนแรงลงไป 

 

กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำนปช.ประกาศจัดกิจกรรมคาร์ม็อบมีแนวร่วมจากหลายจังหวัดร่วมจัดกิจกรรม “ไล่บิ๊กตู่” ในหลายจังหวัดส่วนในกรุงเทพมหานคร มี 5 กลุ่ม  คือ กลุ่มณัฐวุฒิ นัด รวมตัวบริเวณแยกราชประสงค์, กลุ่มคาร์ม็อบ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นัดเจอที่สนามบินดอนเมือง  

 

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มไทยไม่ทน ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ นัดหมายหน้าปั๊ม ปตท. เลียบทางด่วนรามอินทรา และกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ นัดหมายที่รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพระนั่งเกล้า

 

ทั้ง 5 กลุ่มจะจัดกิจกรรมในที่ตั้ง ในรูปแบบการปราศรัยโจมตี “บิ๊กตู่” ประเด็นบริหารโควิดล้มเหลว หลังปราศรัย ในช่วงบ่าย ขบวนรถของผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปจุดหมายเดียวกันคือ ถนนวิภาวดีรังสิตแสดงสัญลักษณ์โดยการบีบแตรยาวๆแยกย้ายกลับ และประกาศยุติการชุมนุม 

 

จุดเริ่มสมรภูมิเดือดดินแดง

 

แม้จะมีประกาศยุติ “คาร์ม็อบ” ในช่วงเย็นวันเดียวกัน แต่จุดหักเหที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนคือ มีแกนนำบางส่วนของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี 3 คน ถูกตำรวจจับ กุมระหว่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ทำให้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร เคลื่อนขบวนมาที่กองบังคับการตำรวจ ตระเวนชายแดนภาค 1 (ตชด.ภาค 1) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สอบสวนบุคคลที่ถูกจับกุม

 

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ปะทะกับมวลชนบริเวณ “สามเหลี่ยมดินแดง” โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สนํ้าตาและกระสุนยาง ในการปราบผู้ชุมนุม 

 

จากปฏิบัติการดังกล่าว มีผู้ชุมนุมถูกยิงที่ศีรษะบาดเจ็บ 1 ราย จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.30 น.  มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้าย เนื่องจากใกล้เวลา “เคอร์ฟิว”

 

เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมที่ “สามเหลี่ยมดินแดง” นับแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 กลายเป็นสมรภูมิรบทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยังมีการนัดชุมนุมของกลุ่มกลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มอาชีวะ

สามเหลี่ยมดินแดง สมรภูมิเดือด!!! ‘ม็อบ’ปะทะ‘เจ้าหน้าที่’

 

 

ม็อบโดนคดี-เจ็บทั้ง 2 ฝ่าย

 

รูปแบบการชุมนุมแต่ละกลุ่มจะมีแกนนำ อาทิ กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้านำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นายอานนท์ นำภา  

 

กลุ่ม WEVO มี นายปิยรัฐ หรือ โตโต้ จงเทพ และมีกลุ่มวันรุ่นบางส่วนที่มาร่วมชุมนุมโดยขับรถจักรยานยนต์ ขว้างปาสิ่งของ ขวดนํ้า ก้อนหิน ประทัดยักษ์ และยิงพลุใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้ตำรวจต้องใช้แก๊สนํ้าตา ยิงกระสุนยาง เพื่อป้องกันระงับเหตุ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายราย

 

รวมทั้ง นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ไฮโซลูกนัท อดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส. ที่ร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บเหนือดวงตาด้านขวาอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีข่าวว่า “ตาบอด” 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีผู้ต้องหามากถึง 14 คน 6 คดี และวันที่ 10 สิงหาคมมีผู้ต้องหา 48 คน เป็นชาย 45 คน หญิง 3 คน ซึ่งแต่ละคนจะถูกดำเนินคดีเป็นรายบุคคลในข้อหาต่างๆ อาทิฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ ชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค ,ข้อหา “อั้งยี่และซ่องโจร, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น พร้อมทั้งยึดรถจักรยานยนต์ ได้ 122 คัน 

 

ส่วนการชุมนุมในลักษณะ “คาร์ม็อบ” โดยมีการใช้รถจักรยานยนต์รถยนต์ ขับไปในพื้นที่ต่างๆ โดยมีการบีบแตร ส่งเสียง กีดขวางการจราจร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จะเป็นความผิดตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งด้วย

 

ล่าสุดกองบัญชาการตำรวจ นครบาล สรุปการดำเนินคดีกับกลุ่มผุ้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึง 13 สิงหาคม มีการดำเนินคดีรวม 35 คดี มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 297 คน ถูกจับกุมแล้ว 134 คดี 

 

เหตุที่ ‘เด็กอาชีวะ’ เลือกสมรภูมิดินแดง 

 

นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มเสื้อแดง และแนวร่วมม็อบราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ระบุถึงเหตุการณ์ม็อบปะทะตำรวจบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดงอย่างต่อเนื่องหลายวันว่า

สามเหลี่ยมดินแดง สมรภูมิเดือด!!! ‘ม็อบ’ปะทะ‘เจ้าหน้าที่’

 

“ตอนเด็กผมเคยอยู่ใน ซ.บุญอยู่ (ถ.ดินแดง) ก่อนที่ผมจะย้ายมาอยู่ที่ลาดพร้าวเกือบ 40 ปี ผมจึงพอคุ้นเคยแถวนั้น ปกติสามเหลี่ยมดินแดงไม่ใช่พื้นที่ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเคยมีก็แค่เหตุการณ์การชุมนุมเสื้อแดง พ.ศ. 2552-2553 

 

สาเหตุที่พื้นที่นี้เป็นชัยภูมิหลักของการบวกของเด็กอาชีวะ น่าจะมีหลายสาเหตุ

 

• พื้นที่นี้เป็นจุดบรรจบของถนน 3 สายคือ ถ.วิภาวดีฯ, ถ.พหลโยธิน และ ถ.ดินแเดง แถมยังอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีถนนใต้ทางด่วนดินแดง จึงเป็นช่องทางเข้า/ออกอย่างดี (เด็กอาชีวะเชี่ยวชาญถนนย่อยยิ่งกว่าแท็กซี่ซะอีก)

 

• พื้นที่นี้อยู่ใกล้กับแฟลตดินแดง จึงเป็นแหล่งพรางตัวเป็นอย่างดี

 

• เด็กอาชีวะมีความคุ้นเคยกับตำรวจเป็นอย่างดี กรณีที่เด็กอาชีวะตีกัน ถ้าไม่ถึงขั้นสาหัส/ตายตำรวจจะไม่ทำคดี เพราะเด็กอาชีวะมักจะจัดการกันเอง ตำรวจจึงไม่ต้องออกแรง

 

ช่วงแรกเด็กจะบวกถึงเที่ยงคืน ก่อนที่จะเหลือเพียง 4 ทุ่ม จนถึงเมื่อคืน (18 ส.ค. 64) แค่เวลาเคอร์ฟิว

 

ใครที่คิดว่าเด็กอาชีวะไม่มีสมองลองคิดใหม่นะ ทำไมพวกเขาถึงโดนจับเพียงคืนละไม่กี่คนแถมโดนแค่คดี พรก.ฉุกเฉิน เป็นส่วนใหญ่”