กมธ.กฎหมาย เตรียมลงพื้นที่ดินแดง สังเกตการณ์ม็อบ22 สิงหา

20 ส.ค. 2564 | 14:21 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 21:34 น.

กมธ.กฎหมาย เตรียมลงพื้นที่ย่านดินแดง สังเกตการณ์ม็อบ 22 สิงหา หลังประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการชุมนุม


วันที่ 20 ส.ค.64 การประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้หารือ เพื่อหาทางออกต่อการชุมนุมทางการเมือง หลังจากมีประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและจากปฎิบัติการของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะบริเวณย่านดินแดงที่มีการชุมนุมและปะทะกันอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

 

โดยที่ประชุมได้มีมติจะลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น เบื้องต้นกำหนดจะลงพื้นที่ 22 สิงหาคมนี้ โดยจะร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการเดินหน้าตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆต่อไป

เมื่อถามว่าครั้งที่ผ่านมาที่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมและเกิดการปะทะ นายสิระ กล่าวต่อว่า เราได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กมธ. ขณะเดียวกัน นายสิระ ยังกล่าวติดตลกด้วยว่า “ส่วนตัวผม ถามว่าจะไปอยู่ฝั่งไหน ผมก็คงไปสังเกตการณที่ฝั่งตำรวจ” ถามต่อว่ายังกังวลเรื่องการเข้าไปสังเกตุการณ์ฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ใช่หรือไม่ นายสิระ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (19 สิงหาคม) ก็มีการปะทะโดยที่ไม่มีเหตุ เราก็จะไปศึกษาว่าต้นเหตุจากแท่นแบริเออร์ที่ตั้งไว้ถาวรหรือไม่ หรือเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งแบริเออร์ไว้ เราก็จะได้เสนอเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทบทวนการทำงาน ซึ่งจากที่เห็นในไลฟ์ ผู้ชุมนุมมีไม่เกินร้อยคน ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนตอบ ทำไมไม่ใช้วิธีอื่น เป็นการไล่จับก็ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อถามว่าส่วนตัวมองว่าเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงด้วยหรือไม่ จึงทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับมา ใช้ความรุนแรงกลับ นายสิระ กล่าวว่า ในกมธ. การกฎหมายฯ ได้ดูแล้วว่า ไม่ได้อยู่ที่แนวป้องกัน แต่เป็นที่จุดนัดหมายในการปะทะมากกว่า ก็ต้องมาดูว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องและสมควรหรือไม่ และเพราะอะไรถึงต้องไปตั้งบริเวณนั้น ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงต้องไปอยู่บนทางด่วน ทำไมไม่ใช้การเจรจา

 

ทั้งนี้ กมธ. ได้มีข้อเสนอแนะกันว่าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจหรือผู้ชุมนุมก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น และกระสุนหรือแก๊สน้ำตาที่ใช้ไปก็เป็นภาษีจากคนไทยทั้งประเทศเหมือนกัน นอกจากใช้วิธีการยิงกันจะสามารถใช้วิธีอื่นได้หรือไม่ ทั้งนี้เป็นปัญหาที่แท่นแบริเออร์หรือผู้บัญชาการที่อยู่ในพื้นที่ที่ดูแลการชุมนุม จะมีการเปลี่ยนที่ตั้งแท่นแบริเออร์หรือเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้หรือไม่ เปลี่ยนวิธีการปะทะเป็นการเจรจาหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสีย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยอยู่บริเวณนั้นหรือผู้ที่สัญจรผ่านไป