ดร.พิสิฐ แนะ พม.ร่วมมือกับวัด จัดที่พักให้คนไร้บ้านสู้สงครามโควิด

22 ก.ค. 2564 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 16:33 น.

ดร.พิสิฐ ขอให้กระทรวงพัฒนาสังคม เป็นแนวที่สามในการสู้สงครามโควิด ร่วมมือกับวัด ศาสนสถานต่าง ๆ จัดที่พักให้คนไร้บ้าน กลุ่มเปราะบางขาดที่พึ่ง ชี้งบประมาณกระทรวงพม.ที่ได้ในปี 65 จำนวน 24.6 พันล้าน อาจไม่เพียงพอแม้จะเพิ่มขึ้น6% จากปีก่อนก็ตาม

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2565  เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ.งบประมาณฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยมีปลัดกระทรวงเข้าร่วมประชุม  ในการประชุมตนได้ให้ข้อคิดเห็นว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้ว่า ส่งผลกระทบทางสังคมที่รุนแรงและกว้างขวางกว่าวิกฤตครั้งใด ๆ ในอดีต เมื่อสาธารณสุขเป็นแนวหน้า และกระทรวงแรงงานต้องเป็นแนวสองเพื่อลดผลกระทบด้านการจ้างงาน แต่ผลเสียหายต่อสังคมเป็นภาระกิจที่กระทรวงสังคมฯต้องเยียวยา ดูแลผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ

 

รองประธาน กมธ.งบฯปี 65 ขยายความถึงภาระกิจของกระทรวงพัฒนาสังคม ที่ต้องดูแลผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ดังนี้  สตรี (67,600 คน) , เด็ก (2.8 ล้านคน) , ผู้สูงอายุ (117,013 คน)  ,ผู้ไร้ที่พึ่ง (115,717 คน)  ,ขอทาน (90,507 คน)  จำนวนตัวเลขของผู้พึงได้รับการดูแลจะต้องเพิ่มมากขึ้น งบประมาณของกระทรวงที่ได้ในงบประมาณ 2565 จำนวน 24.6 พันล้าน อาจจะไม่เพียงพอแม้จะเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า 

 

ทั้งนี้ กระทรวงมี อสค.จำนวน 494,505 คนทั่วประเทศ นอกเหนือจาก  อพส. ที่ดูแลคนสูงอายุ และ อพมก. ที่ดูแลคนพิการ (2.09 ล้านคน) บุคลากรเหล่านี้ควรต้องประสานกับ อสม. ของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีจำนวนกว่าล้านคนทั่วประเทศ รวมทั้งอาจจะมีการระดมอาสาสมัครเช่นแพทย์และพยาบาลเข้ามาช่วยด้วย

ดร.พิสิฐ เสนอให้ พม. ร่วมมือกับวัดและศาสนสถานต่าง ๆ ในการรองรับคนขาดที่พึ่ง ซึ่งมักจะไปขออนุเคราะห์ที่วัดทั้งอาหารและที่พักอาศัย แม้แต่ถนนราชดำเนิน หากไปช่วงเช้ามืด จะเห็นคนไร้บ้านมานอนข้างถนนจำนวนมาก  งบประมาณที่รัฐบาลใช้เพื่อรองรับคนเดือดร้อนเหล่านี้ นอกจากจะตั้งในกระทรวง พม. แล้วยังมีปรากฎในงบอุดหนุนทั่วไป

 

ภาษาที่ใช้สำหรับกระทรวงนี้พยายามเลื่ยงคำว่าสงเคราะห์แต่ใช้คำว่าหลักประกันทางสังคม ซึ่ง ดร.พิสิฐ เห็นว่าคำที่น่าจะใช้คือสวัสดิการสังคม (social welfare) เพื่อไม่ให้ซ้อนกับประกันสังคม (social security)

ดร.พิสิฐ แนะ พม.ร่วมมือกับวัด จัดที่พักให้คนไร้บ้านสู้สงครามโควิด

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งจากวิกฤตโควิดคือคนที่นำบ้านไปจำนองเพื่อเป็นหลักประกันในการก่อหนี้และอาจจะสูญเสียที่อยู่อาศัย การเคหะควรดูแลให้อาคารที่ยังร้างหรือไม่มีผู้อยู่อาศัยได้มีการใช้งาน เพราะอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อาจสูญเสียที่อยู่อาศัยของตน เพราะมีหนี้ที่ชำระไม่ได้

 

งานของกระทรวงพม.ถือได้ว่าอยู่ในเป้าหมายที่ UN ประกาศใน SDGs 17 ข้อถึง 4 ประการคือ  การขจัดความยากจน (ข้อ1)  การขจัดความหิวโหย (ข้อ2)   การให้สิทธิเสมอภาคแก่สตรี (ข้อ5)   การลดความเหลื่อมล้ำ (ข้อ10) เนื่องความหลากหลายของกลุ่มคนที่ พม. ต้องดูแล ดร.พิสิฐ จึงเสนอให้จัดทำ composite indicator เพื่อเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้า