"วัคซีนไฟเซอร์" 20 ล้านโดสถึงประเทศไทยครบในเดือนธันวาคม

22 ก.ค. 2564 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 22:53 น.
1.3 k

หมอเฉลิมชัยเผยรายละเอียดวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดสจะถึงไทยครบในเดือนธันวาคม 64 ชี้เป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ด้านมูลค่าไม่สามารถเปิดเผยได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
ข่าวดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในสัญญาซื้อขายวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย)เรียบร้อยแล้ว จำนวน 20 ล้านโดส จัดส่งภายในไตรมาสสี่ 2564
จากข่าวคราวความสับสน จนเกิดเป็นดราม่าสองเรื่องต่อเนื่องกัน เรื่องวัคซีนของบริษัท Pfizer/BioNTech
โดยกรณีแรก เป็นเรื่องอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ประสานงาน จนทำให้ไทยได้โควต้าวัคซีนบริจาคไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ซึ่งดราม่าเรื่องนี้ ก็ได้จบลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน เมื่อได้รับการปฏิเสธจากสถานทูตสหรัฐอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้วว่า เป็นการประสานติดต่อกันโดยตรงระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่มีเอกชนหรือบุคคลธรรมดาใดใดเป็นผู้ประสานงาน
ส่วนอีกกรณีหนึ่ง เป็นกรณีผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวอ้างเรื่องการติดต่อในนามเอกชนผ่านหน่วยงานของรัฐ (ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยชื่อหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งแปลกมากเพราะสามารถเปิดเผยชื่อหน่วยงานของรัฐในเรื่องประสานจัดหาวัคซีนได้อยู่แล้ว) ว่าจะได้วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยไม่เกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสที่กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้จัดซื้อ และก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมแต่อย่างใดนั้น
ขณะนี้มีข่าวดี และมีความชัดเจนเกิดขึ้นสองเรื่อง ได้แก่
1.รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประสานตกลงกับรัฐบาลไทยโดยตรง ได้วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส จะส่งมาถึงประเทศไทยวันที่ 29 กรกฎาคม 2564
2.กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกับบริษัท Pfizer/BioNTech แล้ว

โดยมีการจัดพิธีลงนามที่กระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และตัวแทนของบริษัทไฟเซอร์ประเทศไทยจำกัด

วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสถึงไทยไตรมาส 4/64
โดยการลงนามในสัญญาซื้อขายวัคซีนดังกล่าว  เป็นการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐคือ กรมควบคุมโรค กับบริษัท Pfizer/BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทร่วมกันระหว่าง Pfizer ของสหรัฐกับ BioNTech ของเยอรมัน
รายละเอียดคือ
1.จะจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ขึ้น ทะเบียนกับอย. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564
2.ในสัญญาระบุว่าวัคซีน 20 ล้านโดสนั้น จะส่งให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่สี่คือ เดือนธันวาคม 2564
3.มูลค่าการซื้อขายไม่สามารถเปิดเผยได้
4.เป็นความพยายามร่วมกันของรัฐบาลไทยและบริษัทไฟเซอร์ที่ได้กระทำต่อเนื่องกันมาหลายเดือน จนบรรลุข้อตกลงในสัญญาซื้อขายวัคซีนครั้งนี้
ทำให้ประเด็นวัคซีนไฟเซอร์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐหรือรัฐบาลไทย เกิดความชัดเจนเรียบร้อยทุกประการแล้ว

ส่วนกรณีที่เป็นดราม่าของผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ก็คงจะต้องติดตามข่าวคราวกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเรื่องจะออกหัวออกก้อย และลงเอยอย่างไร น่าติดตามมาก
ทั้งนี้ จากการตามติดข้อมูลวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า  ปัจจุบันไทยมีวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารเละยา หรือ อย.แล้ว 6 ราย ดังนี้
วัคซีนโควิดซิโนแวค (Sinovac) อย.อนุมัติเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2564
วัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) อย.อนุมัติเมื่อ 20 มกราคม 2564
วัคซีนโควิดจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) อย.อนุมัติเมื่อ 25 มีนาคม 2564
วัคซีนโควิดโมเดอร์นา (Moderna) อย.อนุมัติเมื่อ 13 พฤษภาคม 2564
 วัคซีนโควิดซิโนฟาร์ม (Sinopharm) อย.อนุมัติเมื่อ 28 พฤษภาคม 2564
วัคซีนโควิดไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/ BioNtech) อย.อนุมัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2564

แผนจัดหาวัคซีนโควิด-19
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในไทย สามารถแยกได้ดังนี้
วัคซีนหลัก ที่ประชาชนจะได้ฉีดฟรี ได้แก่ แอสตราเซนเนกา ซิโนแวค ไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 
วัคซีนทางเลือก(ซื้อได้) ได้แก่ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา