เกาะติดการ "ประชุมสภาผู้แทนราษฎร" เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2565 หรือ “งบแต่ละกระทรวง ปี 65” วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพลังงาน และประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ใน 4 ประเด็นสำคัญ โดยใจความระบุว่า ....
ผมขอชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงพลังงานและประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระรับหลักการ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 64) ตามที่มีท่านสมาชิกสภาฯ ได้อภิปรายถึง เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เข้าใจตรงกันและไม่คลาดเคลื่อน ดังนี้ครับ
ประเด็นที่ 1 เรื่องตัวชี้วัดงบประมาณมาจากไหน และมีวิธีคิดคำนวณต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะต้นทุนเนื้อน้ำมัน และค่าการตลาดอย่างไร
- ตัวชี้วัดงบประมาณของกระทรวงพลังงานอ้างอิงมาจากตัวชี้วัดของ World Energy Council (WEC) องค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีกว่า 108 ประเทศทั่วโลกอ้างอิงตัวชี้วัดจาก WEC ในการจัดทำงบประมาณด้านพลังงาน
- ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่พูดถึงคือต้นทุนโรงกลั่น ทั้งนี้รัฐบาลมีที่ปรึกษาและผู้ชำนาญการในการตรวจสอบอยู่ตลอด ว่า "ต้นทุนที่แท้จริง" และ "ต้นทุนที่พึงจะเป็น" ควรอยู่ที่เท่าไร เพื่อคิดคำนวณออกมาเป็นราคาต้นทุนแนะนำ
- ค่าการตลาดคำนวณจากต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้และให้บริการที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภค โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้กำหนดกรอบของค่าการตลาดที่เหมาะสมให้อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร บวกลบที่ราว 40 สตางค์ ทั้งหมดนี้มีกระบวนการควบคุมดูแลให้ได้ต้นทุนพลังงานที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ทั้งผู้บริโภคยังได้รับบริการที่มีคุณภาพในระดับสากล
ประเด็นที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคงและมั่งคั่งได้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิด-19 บ้างหรือไม่
- ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อช่วงต้นปี 2563 จนถึงระลอกล่าสุดในปีนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการขอความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ให้ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยและธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหมด 3 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าราว 41,000 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนสมาชิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกด้วย
ประเด็นที่ 3 รัฐบาลมีส่วนช่วยเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่สามารถลดได้ทันทีของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างไร เช่น การลดส่วนต่างดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
- การบริหารจัดการเรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามามีบทบาทสำคัญ แน่นอนว่า ธปท. ได้ติดตามดูเรื่องต้นทุนและความเสี่ยงของกลไกตลาดในการแข่งขันมาตลอด ช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อประชาชนและเศรษฐกิจ ธปท. ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ช่วยเหลือและดูแลลูกหนี้ ทั้งเรื่องการเลื่อนจ่ายเงินต้นและการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย (เลื่อนต้นเลื่อนดอก) คิดเป็นจำนวนเงินราว 6 ล้านล้านบาท จนช่วยแก้ไขภาวะการเป็นหนี้ให้กลับมาอยู่ในสถานะเกือบปกติได้
- สำหรับการระบาดระลอกล่าสุดในปี 2564 ธปท. ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ช่วยเลื่อนการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกหนี้อีกครั้งหนึ่งจนถึงปลายปี นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ธปท. เข้ามามีส่วนช่วยกำหนดนโยบายและขอความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ที่ดูเหมือนยังคงมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสูงอยู่ ให้ร่วมช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต
- ธปท. ได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระในรูปแบบใหม่ กล่าวคือคิดดอกเบี้ยลดลง ไม่ใช่การคำนวณอัตราดอกเบี้ยสูงสุดหากผิดนัดชำระอย่างที่เคยทำมา โดยกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระสูงสุดที่ 3% จากอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ทั้งยังกำหนดวิธีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยผิดนัดที่เป็นธรรมแก่ผู้กู้มากขึ้น
- ธปท. ยังกำหนดนโยบายในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยมีการบังคับงดจ่ายปันผลระหว่างกาล (dividend) ในปี 2563 เพื่อให้กองทุนของแต่ละธนาคารอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ และมีการตั้งกองทุนสำรองสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็นถึง 53% เพื่อรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโควิด-19
ประเด็นที่ 4 รัฐบาลช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรบ้าง
- สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) รัฐบาลพยายามช่วยเหลือให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยได้มีการอนุมัติใน พรก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทฉบับล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา soft loan นี้จะยังประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น นานขึ้น อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก
อยากให้ทุกท่านมองเห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการสนับสนุน SME ก่อนหน้านี้รัฐบาลยังเคยมีนโยบายและมีมติ ครม. ออกมา ว่าตั้งเป้าให้ SME ของไทยเข้าถึงงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในรายการของกรมบัญชีกลางอย่างน้อย 30% ของงบประมาณ อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่การทำงานของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อน SME ไทยให้เข้มแข็งและมีสภาพคล่องมากขึ้นท่ามกลางวิกฤตนี้ครับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง