ผลงานแก้โควิด ปัจจัยตัดสินใจ เลือกตั้งในอนาคต

26 พ.ค. 2564 | 16:50 น.

ผลงานแก้โควิด ปัจจัยตัดสินใจ เลือกตั้งในอนาคต : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,682 หน้า 10 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม 2564

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ที่ไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง และร่วมเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา 

“ในที่สุดโควิดก็ต้องผ่านพ้นไป จะช้า หรือ เร็ว เท่านั้น วันนี้แม้โลกจะยังไม่ชนะ แต่แนวโน้มทั่วโลกผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ภายในปีนี้ปัญหาโควิดที่เกี่ยวกับสุขภาพน่าจะคลี่คลาย แต่ระหว่างนี้รัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนให้ป้องกันตัวเองให้ครบทุกมิติ ให้ช่วยกันดูแลตนเอง ออกกำลังกายให้แข็งแรง ต้องมีโซเชียลดิสแทนส์อย่างต่อเนื่อง” นายสุวัจน์ ระบุ

ทั้งคาดหวังอยากให้โควิดจบเร็วๆ เพราะถ้ายิ่งช้า เศรษฐกิจก็จะฟื้นช้า โควิดระลอก 3 เห็นชัดว่าทำลายความเชื่อมั่น แต่ถ้าจบเร็ว รักษาความมั่นใจไว้ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจของเราก็จะกระเตื้องขึ้น 

วันนี้นอกจากจะสร้างความ เชื่อมั่นว่า เอาโควิดอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่เพียงพอสำหรับออกมาตรการทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยๆ ก็ประคองไม่ให้ทุกคนจมนํ้าไปกับวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ 

“ถามว่าวันนี้เรายังมีเม็ดเงินอะไรเหลือบ้าง ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ยังเหลือใช้อยู่ราว 3.8 แสนล้าน บาท เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีแผนงานชัดว่าจะเอาเงินที่เหลืออยู่นี้มาทำอะไรบ้าง อาทิ ต่อโครงการเราชนะ อีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 ประมาณ 30-32 ล้านคน โครงการ ม.33 เรารักกัน อีก 9.7 ล้านคน อีก 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1,000 เช่นกัน แล้วก็จะมีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 อีก 31 ล้านคน คน ละ 3,000 บาท แล้วก็ยังมียิ่งใช้ยิ่งได้ การลดค่านํ้า ค่าไฟ หรือ การช่วยเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ได้ทำอย่างต่อเนื่อง” 

นอกจากนี้ เรายังจะมีงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะเข้าสภาในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งสภาคงต้องช่วยกันกลั่นกรองให้ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายให้ถูกต้องกับสถานการณ์ เพราะงบก้อนนี้ถูกจัดทำมาก่อนโควิดระลอก 3 จะเกิด ส่วนตัวคิดว่าสถาน การณ์ระลอก 3 เป็นไฟต์บังคับให้เราต้องเตรียมตัวพิจารณาขยายเพดานเงินกู้ของประเทศด้วย แม้ว่าเดิมทีในเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ เรากำหนดไม่ให้มีภาระหนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี 

 

ผลงานแก้โควิด ปัจจัยตัดสินใจ เลือกตั้งในอนาคต

 

แต่จากปัญหาโควิด และภาระค่าใช้จ่ายขณะนี้ ทำให้มีหนี้อยู่ที่ 55-56% ถือว่าใกล้ชนเพดานเต็มที่ วันนี้ภาคเอกชนพูดเรื่องนี้กันเยอะว่าควรจะกู้เงินเพื่อมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอีกหรือไม่ 

สมมุติว่าถ้ากู้เพิ่มอีก 1.1 ล้านล้านบาท หนี้ต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 65% นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มพิจารณาถึงความจำเป็นตามแนวทางที่ทุกประเทศใช้กัน เพราะวันนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤติิ มีภาวะยกเว้น จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงก่อน ถ้ากระตุ้นแล้วฟื้น ก็ค่อยมาทำงานใช้หนี้กันทีหลัง กลับกันถ้าเราไม่รอดตายวันนี้ก็หมดโอกาสหายใจทันที 

 

 

ดังนั้น วันนี้ นํ้ามันต้องเต็มถัง ห้ามพร่องเด็ดขาดให้เศรษฐกิจยังเดินได้ อะไรใกล้มือดูก่อน งบปี 65 จะปรับได้ต้องปรับ รัฐสภาต้องเป็นเวทีให้บ้านเมืองในช่วงวิกฤติิรัฐควรโฟกัส SME อย่าให้โควิดซํ้าเติมปัญหาความเหลื่อม ลํ้า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเพิ่มเติม คือ ช่วยผู้ประกอบการโดยตรง 

“ไอเอ็มเอฟ ประมาณการไว้ว่าคนที่จะฟื้นตัวเร็วก็คือคนรวย มีทรัพยากรฟื้นได้เลย แต่คนจนจะใช้เวลากว่า 10 ปี ถึงฟื้นตัวได้ ดังนั้น ถ้าเราไม่ให้ความเสมอภาคในการฟื้นตัว โควิดจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าจะมากขึ้นไปอีก” 

นอกจากนั้น เราต้องมองเรื่องสังคมผู้สูงอายุกันอย่างจริงจัง ขณะนี้ตัวเลขผู้ที่อายุเกิน 60 ปี มีเกือบ 12 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรแล้ว ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนอายุ 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน 

นี่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญ คนเกิดน้อย ช่วงชีวิตคนยาวขึ้นจากการแพทย์ แต่เรายังกำหนดเกษียณ อายุ 60 ปี มันทำให้ประเทศมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดสวัสดิการ 

ดังนั้น เราต้องคิดทำให้ผู้ที่มีประสบการณ์เหล่านี้ ยังเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ถ้านำเทคโนโลยีมาบวกกับคนรุ่นใหม่ แล้วใช้ประสบการณ์ของคนอายุ 60 ปีได้ 

“ผมว่านี่คือ ดรีมทีมของประเทศได้เลยในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมว่าโควิดถ้าไม่มองมันอย่างสิ้นหวัง มันอาจ เป็นโอกาสในการทบทวนตัวเองเพื่อ ทำให้เราดีกว่าเดิมก็ได้ วันนี้ภาคธุรกิจเจอวิกฤติิ แล้วเรียนรู้อะไร การเมือง สาธารณสุขเรียนรู้อะไร นำมาปรับใช้ อย่าเพิ่งจมนํ้า แล้วมองให้เป็นโอกาส”

 

 

นายสุวัจน์ ชี้ว่า เหนือสิ่งอื่นใดในช่วงวิกฤติิแบบนี้ เสถียรภาพการ เมืองสำคัญมาก ถ้าการเมืองอ่อนแอ มีแต่ข่าวความขัดแย้งตลอด มันไม่ส่งผลดีแน่นอน จะกลายเป็นซํ้าเติมวิกฤติิ อีกด้วย 

แต่ถ้าเสถียรภาพการเมืองนิ่ง มีความเข้มแข็ง การเมืองทุกฝ่ายช่วยกันทำหน้าที่ ให้ความเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องใจกว้างรับฟัง ให้ถือว่าทุกความเห็นมีความหมายต่อการอยู่ ถ้าช่วยกันได้อย่างนี้ ประชาชนก็จะมีความมั่นใจในมาตรการ พร้อมให้ความร่วมมือ ต่างชาติมองเข้ามาก็มั่นใจ  

“ผมคิดว่าการเมืองวันนี้นับถอย หลังแล้ว เลยครึ่งเทอมมาแล้ว ถ้าเป็นฟุตบอลก็เตะมาถึงช่วง 10 นาทีสุดท้าย เพราะเข้าปีที่ 3 แล้ว อีกไม่นานกรรมการ หรือ พี่น้องประชาชน จะต้องให้คะแนนอีกครั้ง ผมเชื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึง ผล กระทบต่างๆ จากวิกฤติิโควิดที่ประชาชนได้รับ จะอยู่ในใจของเขาตลอด ฉะนั้น ผลงานเรื่องโควิดจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เขาตัดสินใจในทางการเมืองอย่างไรต่อไปแน่นอน”