อัยการขอศาล จารึกประวัติศาสตร์โกงชาติ! 'ยิ่งลักษณ์' อ่วม วิบากกรรมข้าว

23 ส.ค. 2560 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2560 | 19:21 น.
842
เปิดคำแถลงอัยการ 211 หน้าปิดคดีรับจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ร่ายยาวตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ท่ามกลางเสียงท้วงติงกระหึ่มกลับไม่สนใจ เดินหน้าทั้งที่เห็นความเสียหาย ช่วยปิดบังกลบเกลื่อน เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแล้วยังขยิบตาให้ทำสัญญาขายข้าวทำเสียหายเพิ่ม

อัยการสูงสุด โดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดี เป็นตัวแทนโจทก์ ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ความยาว 211 หน้า ต่อองค์คณะตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกำหนดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ในคดีฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ กรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายมหา ศาลซึ่งศาลฯนัดอ่านคำพิพากษาในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมนี้

**ท้วงจำนำข้าวตั้งแต่ตั้งไข่
อัยการแถลงปิดคดีโดยลำดับการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีเสียงเตือนท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ต้น นับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดตันละ 1.5 หมื่นบาท วันรุ่งขึ้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยตรงชี้ปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากบทเรียนการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลก่อนหน้า ที่เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน สร้างความเสียหายมหาศาล จากนั้นมีหนังสือแจ้งเตือนเป็นระยะถึง 4 ฉบับตลอดช่วงโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็ได้ส่งความเห็นเตือนท้วงติงทำนองเดียวกัน พร้อมแนบรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่รับศึกษา บ่งชี้ว่า บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ซึ่งต่อมาแปลงร่างเป็นบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีปัญหาทุจริตเกี่ยวพันกับโครงการรับจำนำข้าวยุคนายทักษิณ ชินวัตร และมีหนังสือเสนอแนะการป้องกันการทุจริตรับจำนำข้าวถึงรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2555

อีกทั้งมีรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงบประมาณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รวมถึงกระทรวงการคลัง โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะนั้น ที่แจ้งเตือนถึงปัญหาภาระงบประมาณในการดำเนินโครงการ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ในแวดวงที่เกี่ยวข้องผ่านทางสื่อสารมวลชนอย่างกว้างขวาง จนถึงต่อมาพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลางสภา เปิดเผยเงื่อนงำการทุจริตการระบายข้าวจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว หากแต่รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการต่อ

**รัฐแบกหนี้ดบ.วันละ36ล.
คำแถลงของอัยการแจก แจงอีกว่า ความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นตามเสียงเตือนท้วงติง จากที่โครงการตั้งราคารับจำนำสูงกว่าตลาด
ถึง 50-60% คาดหมายได้ว่าจะ
ไม่มีเกษตรกรรายใดมาไถ่ข้าวคืนเมื่อครบกำหนด รัฐบาลกลายเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่รายเดียว 
ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐต้องไม่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน และต้องส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี กลายเป็นผูกขาดการค้าข้าวเสียเอง

ทั้งนี้ รัฐต้องใช้เงินไปรับจำนำข้าวจากชาวนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมเวลา 2 ปี 5 ฤดูกาลผลิตเป็นข้าวเปลือกรวม 55 ล้านตัน เป็นเงินรวม
ถึง 8.78 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิด
ขึ้น และตัวเลขเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โครงการนี้ใช้เงินไปแล้ว 9.41 แสนล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5.36 แสนล้านบาท และการขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 เป็นกว่า 6 แสนล้านบาท โดยรัฐมีภาระค่าดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยวันละ 36 ล้านบาท (คิดที่อัตราขั้นตํ่า)

ขณะที่ภาระหนี้สาธารณะจากโครงการรับจำนำข้าว ถึงเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2559 มีรวม 4.02 แสนล้านบาท เทียบกับภาระหนี้สาธารณะโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรอื่นของรัฐบาลก่อนหน้า 5.26 หมื่นล้านบาท ผ่านไป 5 ปี ชำระหนี้ก้อนนี้ไปได้เพียงประมาณครึ่งเดียว “ภาระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นผลจากการกระทำของจำเลยย่อมตกเป็นภาระแก่แผ่นดิน ภาระการเงินการคลังไปอีกนานแสนนาน
เลยทีเดียว”

TP2-3290-1 ** ยิ่งลักษณ์“เฉย”ปมทุจริต
คำแถลงปิดคดีของอัยการยังชี้อีกว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตเกิดขึ้นจริงแทบทุกขั้นตอน ทั้งการทุจริตซื้อขายสิทธิ์ชาวนาตันละ 2-3 พันบาท ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เห็นควรสั่งฟ้องแล้ว การโกงความชื้นข้าว ตลอดจนปัญหาข้าวหาย ผิดชนิด เน่าเสีย ไม่ได้มาตรฐาน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กำลังไต่สวนนับพันคดี

นอกจากนี้โครงการข้าวถุง อีกช่องทางหนึ่งในการระบายข้าวโครงการรับจำนำของกขช.นั้น จากการตรวจสอบของกรรมาธิการการเกษตรฯ วุฒิสภา ระบุว่ามีมูลทุจริตจริงทั้งมีการอภิปรายในสภา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ รับทราบ แต่ก็ไม่มีคำตอบและไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบใด ๆ อย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยในการตั้งอนุกรรมการ 13 ชุดของกขช. จะมี พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการรมว.พาณิชย์ ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อยู่ด้วยเสมอ โดย พ.ต.วีระวุฒิ “เป็นตัวการหรือกลจักรสำคัญในการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและข้าวถุง”

ส่วนการระบายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญหรือคำตอบสุดท้ายของการรับจำนำ ก็พบพิรุธต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการลงนามสัญญาขายข้าวจีทูจี 2 สัญญาแรกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ก่อนที่ครม.จะมีมติเห็นชอบเริ่มโครงการรับจำนำข้าวในวันถัดมา โดยสัญญาแรกขายข้าวค้างสต๊อกของรัฐบาลก่อนหน้า 2.195 ล้านตัน ทั้งที่มีข้าวจริงในคลัง 2.185 ล้านตัน และสัญญาที่ 2 จำนวน 2 ล้านตันจากข้าวใหม่ในโครงการรับจำนำ เป็นการตระเตรียมวางแผนแบ่งงานกันทำเพื่อทุจริตในช่องทางระบายข้าว จีทูจี

จากการไต่สวนของป.ป.ช. พยานหลักฐานมีนํ้าหนักมั่นคงรับฟังได้ว่ามีการทุจริตอย่างชัดแจ้ง เมื่อมีข้อท้วงติง นางสาว
ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้สั่งการใดๆ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งที่ป.ป.ช.มีหนังสือเตือนท้วงติงครั้งแรกวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ชี้เป้าให้ระวังกลุ่มเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยงแต่ไม่ปรากฏได้มีการดำเนินการใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการทุจริต กลับปล่อยให้มีการทำสัญญาระบายข้าวจีทูจีต่อเนื่องถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2556 รวม 8 สัญญา โดย 4 สัญญาหลังเป็นปริมาณถึง 14 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท

“ถือเป็นสิ่งที่ผิดวิสัยและผิดมาตรฐานของคนเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายมาตรการและโครงการที่อนุมัติเป็นอย่างยิ่ง”

**แฉซํ้าช่วยกลบเกลื่อนโกง
คำแถลงของอัยการยังชี้พิรุธต่ออีกว่าหลังถูกฝ่ายค้านอภิปรายชำแหละการระบายข้าวจีทูจี โดยชี้ประเด็นว่า 1. ไม่มีข้าวส่งออก 2.ไม่ได้ทำสัญญากับ
COFCO ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจผู้เดียวจากรัฐบาลจีนในการซื้อข้าว และ 3.การจ่ายเงินไม่ผ่าน L/C แต่เป็นแคชเชียร์เช็คจากธนาคารในประเทศโดยคนของเสี่ยเปี๋ยง อดีตนายกฯ กลับสั่งให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ เวลานั้น ไปตรวจสอบตนเอง ไม่ต่างจากให้ไปฟอกตัว โดยนายบุญทรง อ้างตั้งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ขึ้นมาสอบแล้ว 2 ครั้งตามกรอบที่นายบุญทรงตั้ง โดยไม่ได้สอบปากคำตัวละครหลักอาทิ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้อภิปราย หรือนายอภิชาติ ที่ปฏิเสธการมาให้การ

“การกระทำของคณะกรรมการชุดที่นายบุญทรง ตั้ง จึงเหมือนละครปาหี่ที่หลอกลวงประชาชน ประหนึ่งมีคนตะโกนบอกมีโจรเข้าหน้าบ้านเพื่อให้ไปตรวจสอบให้ตรงจุด แต่กลับไปตรวจสอบหลังบ้าน”

หลังการตรวจสอบ 2 ครั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการสั่งการตรวจสอบเอาผิดเสี่ยเปี๋ยงกับพวกและการทุจริตระบายข้าวจีทูจีอย่างเข้มข้น กลับรีบเร่งทำสัญญาอีก 4 สัญญา ปริมาณ 14 ล้านตัน ปล่อยให้มีการเบิกข้าวออกต่อไป จากตัวเลขการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรของกรมศุลกากรช่วงปี 2554-2557 มีการส่งออกแบบรัฐต่อรัฐ เพียงจำนวนไม่กี่ตัน เทียบกับสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีที่มีถึง 8 สัญญา มีการซื้อขายแล้วประมาณ 20 ล้านตัน ข้อเท็จจริงจึงขัดกันอย่างสิ้นเชิง และเป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเจนที่สุดว่า เป็นการซื้อขายโดยทุจริตจริงโดยปราศจากข้อสงสัย

“ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อตรวจสอบการส่งออกข้าว ปรากฏว่าในช่วงวันเวลาดังกล่าว มีข้าวส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจริงจำนวนมาก มูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่กลับส่งออกในนามเอกชน ชื่อบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด” ของเสี่ยเปี๋ยง คนใกล้ชิดนายทักษิณ พี่ชายจำเลยนั่นเอง ที่ได้ประโยชน์ไปโดยทุจริตตามที่มีการท้วงติงและอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

P1-3290-a **“เฉลิม”ยันไม่รวมจีทูจี
ประเด็นที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ อ้างว่าได้เร่งรัดตรวจสอบการกระทำผิดทั้งการปรับนายบุญทรงออกจากรัฐมนตรีพาณิชย์ แล้วตั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ควบตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์แต่ในการขึ้นเบิกความเป็นพยานนั้นนายนิวัฒน์ ธำรงบ่ายเบี่ยงไม่ตอบคำถาม ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ให้ตรวจสอบทุจริตรวมถึงสัญญาระบายข้าวจีทูจี 8 สัญญาด้วยหรือไม่

หรือกรณีมีคำสั่งตั้งร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธานตรวจสอบการทุจริตรับจำนำข้าว แต่ในการเบิกความในศาล เมื่อถามว่ารวมถึงการตรวจทุจริตระบายข้าวจีทูจีด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกลับบอกว่าไม่เกี่ยวกัน เป็นข้อยุติว่าการตรวจสอบจีทูจีที่อ้างเป็นการปราบปรามการทุจริตจีทูจีนั้น เป็นเพียงละครปาหี่ตบตาเท่านั้น

“ส่อไปทางทำนองโกหกประชาชนคนทั้งประเทศปกปิดข้อเท็จจริง และปิดกั้นหรือบล็อกการตรวจสอบ เพื่อปิดบังอำพรางการทุจริตอย่างแยบยลมีพฤติการณ์ ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่โปร่งใส”

**จารึกประวัติการโกงชาติ
อัยการแถลงปิดคดีสรุปตอนท้ายว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ใช้นโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายประชานิยมที่นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบายของพวกพ้อง ที่แอบแฝงซ่อนเร้นไปด้วยกลโกง ในการรับจำนำข้าว โดยเอาผลประโยชน์ของชาวนาบังหน้า ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างร้ายแรงจนยากจะเยียวยา อันไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ขอศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั่วไป โดยคดีนี้โจทก์ได้นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนชัดแจ้งเป็นที่ประจักษ์ คดีมีพยานหลักฐานหนักแน่นน่ารับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยแล้ว เพื่อเป็นการจารึกชื่อบุคคลที่กระทำผิดหรือมีส่วนร่วมกระทำผิด ไว้ในประวัติศาสตร์การโกงชาติบ้านเมืองให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันสืบไป

**จำเลยปิดปากรอศาล
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 1 ใน 28 จำเลยคดีข้าวจีทูจี กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ จะไปรับฟังคำตัดสินของศาลอย่างแน่นอน ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นขอฟังคำตัดสินก่อน” ขณะที่นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศและรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า “ไม่ขอคุยด้วยในเรื่องนี้ครับ”และได้วางสายโทรศัพท์ไป

ขณะที่ในการติดต่อนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยในกลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว ปลายทางระบุว่า เลขหมายนี้ได้ขอระงับบริการรับสายชั่วคราว ส่วนนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด ไม่มีผู้รับสาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560