กระทรวงวัฒนธรรม เผยโพลวันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา 2567 คนไทยอยากทำบุญ ทำทาน

20 ก.ค. 2567 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2567 | 10:20 น.

กระทรวงวัฒนธรรม เผยโพลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา 2567 ชี้คนไทยอยากทำบุญ ทำทาน เพื่อความสบายใจ เป็นอันดับแรก แนะจัดประกวดสวดมนต์สรภัญญะ ตอบปัญหาธรรมะ แก่เด็กและเยาวชน นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ปี 2567” จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 16,034 คน ผลโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ จำนวน 23,604 คน 

โดยร้อยละ 85.71 ทราบว่าวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาปีนี้ ตรงกับวันที่ 20 และ 21 กรกฎาคม 2567 และคิดว่าวันอาสาฬหบูชามีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ร้อยละ 63.43 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ร้อยละ 56.23 และเป็นวันที่พระสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้น คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ร้อยละ 45.80 นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ นึกถึงวันเข้าพรรษาในเรื่องอะไรบ้าง ร้อยละ 58.25 ตอบว่า คือการที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ร้อยละ 56.42 การแห่เทียนพรรษา และร้อยละ 54.40 การโอกาสบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตร รักษาศีล สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญภาวนา 

ขณะที่เมื่อถามว่าวิธีการใดจะจูงใจหรือเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษามากขึ้น ผลปรากฏว่า ร้อยละ 72.44 ให้พ่อแม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติพี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ร้อยละ 48.07 ให้โรงเรียน สถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็ก ผู้ปกครอง หรือผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม และร้อยละ 37.27 อยากให้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ผ่าน Facebook Tiktok Instagram เป็นต้น 

ขณะเดียวกันผลสำรวจครั้งนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ จะทำกิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาและในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาในปีนี้ คือ ร้อยละ 55.45 ทำบุญ ทำทาน ร้อยละ 49.25 ตักบาตรพระสงฆ์ ร้อยละ 47.82 เวียนเทียน นอกจากนี้เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าสิ่งที่ได้จากการทำบุญช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในปีนี้ คือ ร้อยละ 62.04 ความสบายใจ ร้อยละ 54.08 อุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรที่เสียชีวิตไปแล้ว และร้อยละ 35.40 หลุดพ้นจากความทุกข์

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจเผยว่าเด็ก เยาวชน และประชาชน มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทราบเกี่ยวกับกิจกรรม สถานที่จัดงาน ผ่านสื่อต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ ป้ายประชาสัมพันธ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เป็นต้น ให้ส่งเสริมการจัดกิจกรรมประกวดสวดมนต์สรภัญญะ การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ สำหรับเด็กและเยาวชน ในสถานศึกษาเพื่อนำความรู้ทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ภาครัฐจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เด็ก เยาวชนและประขาชน ให้มีจิตสำนึกในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีจิตสาธารณะ 

พร้อมรณรงค์เชิญชวนให้คนเข้าใจถึงหลักการปฏิบัติให้ถูกต้องในการทำบุญวันเข้าพรรษา สืบสานประเพณีให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา สนับสนุนให้พระสงฆ์ผู้เผยแพร่ศาสนาโดยตรง เข้าไปจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ หรือ พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เพื่อให้นักเรียนเกิดความตื่นตัว มองว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และตระหนักรู้อยู่เสมอ ตามหน้าที่ของศาสนิกชนที่ดี ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา “เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2567 กระทรวงวัฒนธรรม 

โดยกรมการศาสนา จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2567 ระหว่างวันที่ 15 – 21 กรกฎาคม 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกันนี้ขอเชิญพุทธศาสนิกชน ร่วมน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย สืบสานพระพุทธศาสนา รักษาวัฒนธรรมไทย ให้ทาน รักษาศีล ลด ละ เลิก อบายมุข เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษา ณ วัดใกล้บ้าน หรือสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ” รมว.วธ. กล่าว