เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ประวัติ และ ลักษณะเรือพระที่นั่ง

08 ก.ค. 2567 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 17:19 น.

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ประวัติ และ ลักษณะเรือพระที่นั่ง หลัง กองทัพเรือ จัดขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ประวัติ และ ลักษณะเรือพระที่นั่ง ภายหลังจากรัฐบาลได้มอบหมาย กองทัพเรือ จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่กำหนดการจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ซึ่งเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  เป็นหนึ่งใน 4 ลำ เรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  ประวัติ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดย กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร ได้นำ โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับ ศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

ประวัติเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯจัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำเดิมสร้างขึ้น ในสมัย รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อว่า “มงคลสุบรรณ” หัวเรือเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอก ทาสีแดง ฝีพาย 65 คน ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ยืนประทับบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความเป็นสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในศาสนาพราหมณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกองค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตา ภรณ์และมงกุฎยอดชัยพระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี 4 พระกร ทรงเทพศาสตราคือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามคติของพราหมณ์ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ 1 ตอนกุมภกรรณต้องศรพระรามสิ้นชีวิต 

แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพระพักตร์จำรัสรัศมี
สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร
ทรงเทพอาวุธจักร สังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร
จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา


แล้วขนานนามว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ” ต่อมาเรือได้เสื่อมสภาพลงคงเหลือแต่โขนเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ประวัติ และ ลักษณะการใช้

 


 

ในปี พ.ศ. 2539 กองทัพเรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กรมอู่ทหารเรือ และกรมศิลปากร ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีที่ 50 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อเรือว่า "เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9" เรือลำดังกล่าวมีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา

ขั้นตอนการจัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 แบบเรือได้คงขนาดและลักษณะของลวดลายแกะสลักทั้งหลายไว้ตามแบบเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเก่า แต่ได้ปรับปรุงให้โขนเรือมีความสูงเพิ่มขึ้น และส่วนที่เป็นรูปพระครุฑพ่าห์ก็ออกแบบให้มีความงดงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ขยายพื้นที่ของลำเรือให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ทอดบัลลังก์กัญญาและประดับเครื่องสูงทั้งหลาย เริ่มดำเนินการสร้างตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2537 กรมอู่ทหารเรือรับเป็นผู้จัดสร้างตัวเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลการออกแบบแกะสลักลวดลายตลอดจนการลงรักปิดทองประดับกระจก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2537 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2539

ลักษณะเรือ

  • ลักษณะโขนเรือ โขนเรือทำจากไม้สักทองลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็น ก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่กัวก้านขด
  • ส่วนท้ายเรือ มีลักษณะคล้าย ท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้าย เป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ
  • ลำเรือ ทำจากไม้ตะเคียนทอง แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ มีลวดลายเป็นลายพุดตาน สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาด ใช้ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
  • แผงพนักพิง แกะสลักลวดลาย เป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อ เป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เสาสองต้นทาสีดำ
  • ส่วนพายกับฉาก ลงรักปิดทอง การวางฉัตร ให้เว้น 2 กระทง ต่อ 1 ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ เป็นทองแผ่ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจก พื้นแดงลายจั่ว และลายผ้าม่านโดยรอบ ประดับด้วยทองแผ่ลวด
  • ขนาดของเรือ มีความยาว 44.3 เมตร ความยาวแนวน้ำหนักบรรทุกเต็มที่ 34.6 เมตร ความกว้าง 3.2 เมตร ความลึก 1.1 เมตร กินน้ำลึก 0.4 เมตร ระวางน้ำบรรทุกขับเต็มที่ 20 ตัน มีฝีพาย 50 นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 11.9 ล้านบาท.

 

ที่มา: กองทัพเรือ