เมืองการบินอู่ตะเภา UTA ลุ้นเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งเป้าตอกเสาเข็มปีนี้

20 เม.ย. 2567 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 17:19 น.
2.4 k

วัดปรอทเมืองการบินอู่ตะเภา UTA รอไม่ไหวเจรจาขอเข้าพื้นที่เตรียมงานก่อสร้างสำเร็จแล้ว รอรัฐเคลียร์ปัญหาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน เผย 5 ปี ลงทุนไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท ลุ้นอีอีซี ให้เริ่มก่อสร้างปีนี้ ด้าน ทร.เผย 30 บริษัทซื้อซองประมูลรันเวย์ 2

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุน 204,240 ล้านบาท นับจากวันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ลงนามกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เนื่องจากอีอีซี ยังไม่ได้ออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP)ได้ ทั้งๆที่เอกชนลงทุนใช้จ่ายในโครงการนี้ไปแล้ว 4,000 ล้านบาท

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุด UTA ได้เจรจากับอีอีซีในการขอเข้าพื้นที่ไปเตรียมการก่อสร้างรอไว้ก่อน ระหว่างรอรัฐหาข้อสรุปกับบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ผู้รับสัมปทานก่อสร้างรถไฟโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างทั้งๆที่ชนะประมูลมากกว่า 5 ปีแล้ว

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนที่สนับสนุนในการให้บริการผู้โดยสารในโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา และเป็น 1 ในเงื่อนไข 5 ข้อที่ UTA ต้องทำแผนร่วมกับเอเชีย เอราวัณ  ซึ่ง UTA มองว่าในเร็วๆนี้รัฐจะหาวิธีแก้ปัญหาและข้อสรุปในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินได้  เพื่อจะได้ส่งมอบพื้นที่ให้ UTA เข้าไปลงทุนได้ภายในปีนี้

 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในขณะนี้ UTA ได้เริ่มเข้าพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเข้าไปเตรียมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้ว ซึ่งเราต้องเข้าไปวัดพื้นที่ เตรียมคน เตรียมงานต่างๆไว้รอก่อสร้างทันที หลังจาก UTA ได้รับหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ที่คาดว่าจะได้เข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในปีนี้

พุฒิพงศ์ ปราเสริฐทองโอสถ

“เราเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเข้าพื้นที่ไปเตรียมงานก่อสร้างก่อน จึงได้ขออนุญาติภาครัฐเข้าไป เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาก็ล่าช้ากว่าแผน การได้เข้าไปเตรียมงานก่อน พอรัฐส่งมอบพื้นที่ให้เราได้ เราก็จะได้ค่อยๆทยอยปรับคนเข้าไปทำงาน ซึ่งทางรัฐก็บอกว่าดี และตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว UTA มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท หลักๆเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น ค่าที่ปรึกษา การทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) การออกแบบสนามบิน เราก็อยากจะเดินหน้าลงทุนให้เร็ว เพราะที่ผ่านมามีค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีรายได้เกิดขึ้น”

 

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ผมมองว่า อีอีซี น่าจะออก NTP ให้ UTA เข้าไปลงได้ เนื่องจากในสัญญา 5 ข้อที่เป็นเงื่อนไขในการออก NTP มีการดำเนินการแล้ว 4 ข้อ ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน 2.ระบบไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภค 3.การรื้อย้าย เพื่อส่งมอบพื้นที่ 4.การประกวดราคารันเวย์ 2 ของกองทัพเรือ (ทร.) ยังเหลือเพียง 1 ข้อ คือ การทำแผนก่อสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องหารือร่วมกันถึงการวางตำแหน่งและบริหารสถานีรถไฟเชื่อมต่อ สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร และทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับสนามบิน

โดยผมมองว่ายังไงการพัฒนาต่างๆในโครงการอีอีซียังไงก็ต้องเกิด เห็นได้จากการออกไปดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงในไทยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โครงการต่างๆหลักๆก็จะลงในพื้นที่อีอีซี ดังนั้นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ก็เป็นโครงการพื้นฐานที่สำคัญ โดยปัญหาเรื่องถึงไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วรัฐก็จะมีข้อสรุปถึงแนวทางหรือวิธีการต่างๆที่จะเกิดขึ้น อาทิ การเจรจากตกลงกับผู้ได้รับสัมปทานให้ได้ข้อยุติ ถ้าตกลงไม่ได้ ผู้ได้รับสัปทานไม่ทำแล้ว จะหาใครมารับแทน รัฐต้องหาวิธีการที่เหมาะสม เพราะถ้าไม่มีไฮสปีดเทรนก็คงไม่ได้

เนื่องจากทั้ง 2 โครงการมีส่วนเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน อย่าลืมว่าการเดินทางของผู้โดยสารเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ มีความจำเป็นที่ต้องใช้การเดินทางที่สะดวก รองรับการเดินทางเข้า-ออก ให้เป็นไปตามเป้าหมายปลายทางของสนามบินอู่ตะเภา ที่ในปีที่ 50 จะต้องมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 60 ล้านคน นั่นหมายความว่าต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 100,000 คน เท่าๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมภาพรวมของ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เคยอยู่ด้วยกัน เป็นโครงการเดียวกันมาก่อน ก่อนจะถูกจับแยกออกจากกัน มีกลุ่มพันธมิตรของภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและพัฒนา 2 ราย เลยทำให้ดูเหมือนยุ่งไปหน่อย

 “ตอนนี้เราอาจจะไม่ต้องรอความชัดเจนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ให้ออกมาก่อน เพราะหากรอขนาดนั้นแล้วไม่มีออกมา รอไปอีก 10 ปี เราก็ไม่ได้สร้างสักที ทำให้ต้องมาปรึกษาภายในของเราเองว่า จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก งบประมาณของโครงการก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะพันธมิตรทางการเงินของเรา ก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อตามแผนงานแน่นอน” นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ปัจจุบันกองทัพเรือ (ทร.) ได้เปิดขายซองเอกสารประกวดราคาในโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 (รันเวย์ 2) และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐในการลงทุนภายใต้โครงการร่วมทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โดยผลจากการเปิดขายซองเอกสาร มีเอกชนสนใจซื้อของประมูลแล้วกว่า 30 ราย มีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 20 พ.ค.2567 คาดได้ตัวผู้รับเหมาภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างทันที โดยการก่อสร้างรันเวย์ 2 จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี หลังจากนั้นจะทดสอบระบบประมาณ 1 ปี และจะเปิดใช้งานภายในปี 2571 เพื่อรองรับการขยายสนามบินอู่ตะเภาตามที่เอกชนคู่สัญญาวางแผนไว้

ทั้งนี้การก่อสร้างรันเวย์ 2 มีความยาว 3,500 เมตร โดยภายใต้รันเวย์นี้จะมีแนวเส้นทางของไฮสปีดเทรนเชื่อม3 สนามบินตัดผ่าน ทำให้ต้องก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดให้กับไฮสปีดเทรนด้วย คาดว่าจะมีพื้นที่ราว 80 เมตร ปัจจุบัน ทร.จึงแบ่งสัญญางานก่อสร้างส่วนของอุโมงค์ไว้อีก 1 สัญญา เพื่อรอความชัดเจนของเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนมาวางแผนพัฒนา และยืนยันว่าความล่าช้าของไฮสปีดเทรน 3 สนามบินจะไม่กระทบต่อการก่อสร้างรันเวย์ 2 เพราะผู้รับเหมาสามารถทยอยก่อสร้างส่วนอื่นไปก่อนได้