บอร์ด “ธงขาวดาวเขียว”นิคมฯบางชัน คุมเข้ม 79 โรงงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

21 มิ.ย. 2567 | 15:16 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2567 | 15:31 น.

บอร์ด“ธงขาวดาวเขียว” นิคมฯบางชัน คุมเข้ม 79 โรงงาน ดึงภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมตรวจสอบธรรมาภิบาล รักษ์สิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันยั่งยืน

นางลัดดาวัลย์ อ่อนกำปัง ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เปิดเผยว่า สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือ “โครงการธงขาวดาวเขียว” ตามนโยบายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม  ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

โดยส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนยกระดับการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นการพัฒนาโครงการการมีส่วนร่วมระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และยั่งยืน

บอร์ด “ธงขาวดาวเขียว”นิคมฯบางชัน คุมเข้ม 79 โรงงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการธงขาวดาวเขียวนิคมฯบางชัน จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่คณะกรรมการมีแผนงานตรวจเยี่ยมโรงงาน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด, บริษัท โตโยอิ้งค์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท จินซาน อีเล็คโทรนิค อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เฟลเวอร์พลัส จำกัด, บริษัท สหภัณฑ์ส่งเสริมการเกษตร จำกัด

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะกรรมการได้ทำการตรวจสอบแต่ละโรงงานแล้ว จะมีการประเมินผลการตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ใน 5 มิติ ได้แก่ มิติภายภาย มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม มิติการบริหารจัดการ หากผลการประเมินของโรงงานแต่ละรายไม่ผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการที่กำหนดไว้ คณะกรรมการก็จะชี้แจงให้โรงงานทำการปรับปรุงการบริหารจัดการในมิติต่าง ๆ ให้ผ่านการตรวจประเมินในครั้งต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

บอร์ด “ธงขาวดาวเขียว”นิคมฯบางชัน คุมเข้ม 79 โรงงาน รักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ เพื่อสนับสนุนให้โรงงานในนิคมฯ นําหลักธรรมมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มาใช้ในการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจของชุมชนที่มีต่อการดําเนินงานด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมฯ และเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือ อันจะนําไปสู่การอยู่ร่วมกันของนิคมอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม

นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการธงขาวดาวเขียว สำนักงานเขตมีนบุรี เป็นคณะกรรมการในชุดนี้ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการตรวจสอบ และการกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 79 บริษัท เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการ และการบริหารจัดการโรงงาน 

ศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี

โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนดังกล่าว เขตมีนบุรีให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการนี้ได้สอดคล้องกับภาระกิจของกรุงเทพมหานคร ในการกำกับดูแลโรงงาน ไม่ก่อนให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน และการส่งเสริมการส่วนร่วมในการของภาคประชาชนในการตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงาน ตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วมที่ยั่งยืนให้กับสังคม

นางสาวตวงพรรษ ใสสะอาด กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด กล่าวว่า  ทางบริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด เป็นบริษัท ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป“ยำยำ” มีวิสัยทัศน์ ที่มุ่งมั่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน โดยมีพันธกิจ ในการส่งมอบมื้ออาหารพร้อมรับประทานที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ ให้พี่น้องประชาชน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย 

ตวงพรรษ ใสสะอาด กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด

สำหรับโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม หรือโครงการธงขาวดาวเขียวนั้น ทางโรงงานได้ดำเนินการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ร่วมกับนิคมฯบางชัน มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันทางโรงงานได้รับการรับรอง green industry ระดับ GI 3 ในการส่งเสริมสนับสนุนการที่นิคมฯบางชัน เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco Excellence ใน 5 มิติ มิติภายภาย มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม มิติการบริหารจัดการ ซึ่งโรงงานได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงาน นิคมฯ และชุมชน อย่างยั่งยืน