ย้อนรอยกรณีพิพาท "วิน โพรเสส" ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีระยอง

23 เม.ย. 2567 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 10:31 น.
655

ย้อนรอยกรณีพิพาท "วิน โพรเสส" ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีระยอง สร้างผลกระทบต่อประชาชน 2 ตำบล ที่บางบุตร และหนองบัว ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้วที่นี่

ไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่โรงงานดังกล่าวได้ถูกสั่งปิดไปแล้วแต่ยังมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ในบริเวณโรงงานก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ล่าสุด 

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อ 2 ตำบล คือ ต.บางบุตร และ ต.หนองบัว อีกทั้งยังสร้างความวิตกกังวล เพราะสารเคมีที่ลอยคลุ้งอยู่ในอากาศอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับ "บริษัท วิน โพรเสส จำกัด" พบว่า 

ปี 2554 

เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านหนองพะวา จ.ระยอง ต่อต้านและร้องเรียนโรงงานบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ที่ได้ฝังกลบสิ่งปฏิกูลและวัสดุภัณฑ์ไม่ใช้แล้ว ซึ่งสร้างความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง
 

ปี 2555 

ชาวบ้านมีการลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย จากการจัดตั้งโรงงานของบริษัทฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทฯ

ย้อนรอยกรณีพิพาท "วิน โพรเสส" ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีระยอง

ปี 2556 

ชาวบ้านร้องเรียนให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เข้าตรวจสอบโรงงานหลังส่งกลิ่นเหม็น โดยผลการตรวจพบว่ามีการขุดบ่อในการฝังกลบ 3 บ่อ และพบการอัดก้อนกระดาษ คัดแยกขยะต่างๆ แบ่งเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้วและแปรรูปน้ำมันเครื่อง มีอาคารโรงเก็บของ 5 โรง มีการเก็บขยะจำพวกเศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี และน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันออก เข้าร่วมตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงงาน โดยขุดหลุมบริเวณที่สงสัยว่าจะมีการลักลอบฝังกลบไปแล้ว พบว่ามีไอระเหยจากหลุมส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง รวมทั้งมีการตรวจวัดพบสารอินทรีย์ระเหยทั้งหมด สูงกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน

อีกทั้ง ยังได้ตรวจวัดน้ำจากหลุมฝังกลบ พบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) 37 มิลลิกรัม/ลิตร น้ำมัน และไขมัน 106 มิลลิกรัม/ลิตร โดยถือเป็นวัตถุอันตรายในลำดับที่ 50 (ของเสียผสมระหว่างน้ำมัน /น้ำ หรือไฮโดรคาร์บอน/น้ำ หรืออยู่ในรูปอิมัลชัน) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย พ.ศ.2538

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนรวมตัวชุมนุมหน้าบริษัทฯ เรียกร้องให้รับผิดชอบ กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดระยองมีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และให้ขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงานโดยเร็ว
 

ปี 2557-2559 

บริษัท วิน โพรเสสฯ มีความพยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน โดยมองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการทำกิจกรรมทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและเพิกเฉยต่อคำสั่ง

ปี 2560 

กรมอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทฯ จำนวน 3 ใบ และยังออกใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่บริษัทฯ อีก 4 ใบ จึงทำให้โรงงานถูกเปลี่ยนสถานะเป็นโรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่หนองพะวาเริ่มรุนแรงและขยายวงกว้าง ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า น้ำผิวดินรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด พบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงบ่อบาดาล โดยพบสารทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุไว้ในประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ย้อนรอยกรณีพิพาท "วิน โพรเสส" ก่อนเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีระยอง

ปี 2564 

ชาวบ้านหนองพะวา ยื่นฟ้องบริษัทฯ โดยเรียกร้องให้เยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเงินกว่า 47 ล้านบาท รวมทั้งฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

จนกระทั่งศาลจังหวัดระยองสืบพยานและอ่านคำพิพากษาเมื่อปี 2565 ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทย์เป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี และให้ควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่หนองพะวาให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ

ปี 2566 

ช่วงเดือน ต.ค.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่โรงงานบริษัท วิน โพรเสสฯ ติดตามตรวจสอบการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งศาล พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบพบการรั่วไหลของเสียในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ระหว่างรอการคัดแยกเพื่อนำไปบำบัดกำจัด และยังพบถังเก็บสารเคมีขนาด 1,000 ลิตร มีกลิ่นเหม็นฉุนสารเคมี ตั้งอยู่นอกอาคารจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังพบของเสียที่โรงงานแห่งนี้ไม่ได้รับอนุญาต เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เข็มฉีดยา เป็นต้น รวมทั้งตรวจพบร่องรอยการคัดแยกตัดโครงเหล็กของถังเก็บสารเคมี โครงสร้างหลังคาและชิ้นส่วนรถบรรทุก

รวมถึงยังพบปัญหาใหม่คือ การบำบัดน้ำในบ่อดินที่น้ำน่าจะมีสภาพดีขึ้นแล้ว แต่กลับมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม จนเป็นของเสียเคมีวัตถุตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งจากข้อมูลพยานหลักฐานเบื้องต้น ชี้ได้ว่าเป็นการนำของเหลวเคมีวัตถุที่มีสภาพกรดเข้มข้นที่อยู่ในอาคาร ปล่อยลงรางระบายน้ำไหลสู่บ่อดิน (บ่อที่ 1)

อย่างไรก็ตาม มีการนำของเสียบางส่วนออกไปบำบัดกำจัดตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดระยอง รวมถึงการบำบัดน้ำในบ่อดิน 4 บ่อ โดยยังมีของเสียตามคำพิพากษาในอาคารที่ต้องขนไปบำบัดกำจัดอีกจำนวนมาก

จนล่าสุดวันที่ 22 เม.ย.2567 โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตรายในพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เกิดเหตุไฟไหม้ดังกล่าว