กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง "บิ๊กโจ๊ก" ถูก "บิ๊กต่าย" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

18 เม.ย. 2567 | 20:52 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 21:17 น.
12.0 k

กาง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 และกฎ ก.ตร. หลัง"บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ถูก "บิ๊กต่าย" พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

จากคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน สำหรับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. พร้อมตำรวจอีก 4 นาย จากการเซ็นคำสั่งโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.)  ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567

พร้อมระบุที่มาของการออกคำสั่งว่า จากรายงานพฤติการณ์แห่งคดีตามระเบียบของคณะพนักงานสอบสวน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ตั้งขึ้นมา และกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และข้าราชการทั้ง 4 นาย รวม 5 คน ได้กระทำผิดอาญาจริง

จึงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 131 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้าราชการตำรวจต้องหาคดีอาญา ประกอบกับมาตรา 112 ในรายละเอียดแห่งการพิจารณาว่าจะกระทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่มาประกอบกัน การให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นไปตามกฎของ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพัก และออกราชการไว้ก่อนทุกประการ

การลงนามทำในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. มีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 ถือเป็นผู้บังคับบัญชาและรักษาการ คือมีอำนาจเช่นเดียวกับ ผบ.ตร. ซึ่งพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถใช้สิทธิ์ในการร้องทุกข์ หรืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตามกฏหมายตำรวจ ปี 2565 ได้

กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง \"บิ๊กโจ๊ก\" ถูก \"บิ๊กต่าย\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

กางพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565

มาตรา 131

ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้ 

แต่ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิด หรือกระทำผิดไม่ถึงกับถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ก็ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น

เมื่อได้มีการสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ใดพักราชการหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังปรากฏว่าผู้นั้นมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีอื่นอีก ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจดำเนินการสืบสวน หรือพิจารณาตามมาตรา 117 และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 119 ตลอดจนดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้

ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการ หรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 สั่งลงโทษตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควร ลดหย่อน จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ และให้มีคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งพักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน 

เงินเดือน เงินอื่นที่จ่ายเป็นรายเดือน และเงินช่วยเหลืออย่างอื่น และการจ่ายเงินดังกล่าวของผู้ถูกสั่งพักราชการและผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระยะเวลา ให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

ให้นำความในมาตรา 129 มาใช้บังคับแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรานี้ด้วย โดยอนุโลม แต่ระยะเวลาให้นับแต่วันที่พ้นจากราชการด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง \"บิ๊กโจ๊ก\" ถูก \"บิ๊กต่าย\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

มาตรา 112

การกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ได้แก่ การกระทำ ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

(2) ล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศตามที่ ก.ตร. กำหนด

(3) ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกิน15วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ

(4) ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือท าร้ายประชาชนผู้ติดต่อราชการหรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ

(5) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(6) กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

(7) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคสาม หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 51 วรรคสอง

(8) ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโดยจงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดตามมาตรา 87 วรรค4 หรือกระทำการตามมาตรา 87 วรรค5

(9) กระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ รวมทั้งการกระทำผิดตามมาตรา 111 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

(10) กระทำการหรือไม่กระทำการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง \"บิ๊กโจ๊ก\" ถูก \"บิ๊กต่าย\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547

กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 มีข้อที่น่าสนใจ ดังนี้

ข้อ 2   การสั่งให้ข้าราชการตำรวจพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย  ระยะเวลาให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน  และการดำเนินการ  เพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. นี้

ข้อ 3   เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน  หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา  เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ  

ผู้มีอำนาจตามมาตรา 72  หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร. แล้วแต่กรณี  จะสั่งให้ผู้นั้นพักราชการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด   ดังต่อไปนี้

(1)  ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน  หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญาในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  หรือเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ  และผู้ที่ถูกฟ้องนั้นพนักงานอัยการมิได้รับเป็นทนายแก้ต่างให้  และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่า  ถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ

(2) ผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า  ถ้าคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณา  หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น

(3) ผู้นั้นอยู่ในระหว่างถูกควบคุมหรือขัง โดยเป็นผู้ถูกจับในคดีอาญาหรือต้องจำคุก โดยคำพิพากษา และได้ถูกควบคุม  ขัง  หรือต้องจำคุก  เป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 15 วันแล้ว

(4) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวน และต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น  หรือผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนภายหลังที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นผู้กระทำความผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวนนั้น     

และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น  ได้ความประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการกระทำความผิดอาญาของผู้นั้นเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 5   ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายสำนวน  หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญาหลายคดี  

เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  หรือผู้ที่ถูกฟ้องนั้นพนักงานอัยการรับเป็นทนาย  แก้ต่างให้  ถ้าจะสั่งพักราชการ ให้สั่งพักทุกสำนวนและทุกคดี

ในกรณีที่ได้สั่งพักราชการในสำนวนใดหรือคดีใดไว้แล้ว  ภายหลังปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้น  มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนในสำนวนอื่น  หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญาในคดีอื่นเพิ่มขึ้นอีก  

เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  หรือผู้ที่ถูกฟ้องนั้น  พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้  ก็ให้สั่งพักราชการในสำนวนหรือคดีอื่นที่เพิ่มขึ้นนั้นด้วย

ข้อ 8 วรรคสอง ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่ง

การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน  ให้สั่งให้ออกตลอดเวลาที่สอบสวนพิจารณา  เว้นแต่กรณีผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต่อ ก.ตร.  และ ก.ตร. ได้พิจารณาเห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น และไม่สมควรที่จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน  

ก็ให้แจ้งผู้มีอำนาจตามมาตรา 72  หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ตร. แล้วแต่กรณี  สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการก่อนการสอบสวนพิจารณาเสร็จสิ้นได้

กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง \"บิ๊กโจ๊ก\" ถูก \"บิ๊กต่าย\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
 
ข้อ 12 ว่าด้วยการดำเนินการ หลังสอบวินัยเสร็จสิ้น

เมื่อได้สั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ใดพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย  ถ้าภายหลังปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาเป็นประการใดแล้วให้ดำเนินการ  ดังต่อไปนี้
 
(1)    ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ก็ให้สั่งลงโทษให้เป็นไปตามมาตรา 90 หรือมาตรา 123 แล้วแต่กรณี

(2)   ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ  ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น  แล้วดำเนินการตามมาตรา 89 หรือมาตรา 123  แล้วแต่กรณี
 
(3) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการ  ก็ให้สั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกันที่ผู้นั้นมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น  

ทั้งนี้  สำหรับการสั่งให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการ พนักงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป  ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  แล้วดำเนินการตามมาตรา 89 หรือมาตรา 123  แล้วแต่กรณี
 
(4) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น  แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้  เนื่องจากมีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว  ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 89  หรือมาตรา 123  แล้วแต่กรณี  โดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ
 
การดำเนินการตามมาตรา 89  หรือมาตรา 123  ในกรณีที่จะสั่งลงโทษตัดเงินเดือน  การสั่งลงโทษดังกล่าวให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันสุดท้ายก่อนวันพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
 
(5) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น  แต่ไม่อาจสั่งให้กลับเข้ารับราชการได้  เนื่องจากมีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์นั้นแล้ว  

ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 89  หรือมาตรา 123  แล้วแต่กรณี  และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน  เพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  และให้นำ (4) วรรคสอง  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  กาง พ.ร.บ.ตำรวจ หลัง \"บิ๊กโจ๊ก\" ถูก \"บิ๊กต่าย\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน
(6) ในกรณีทีปรากฎว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น  ก็ให้ดำเนินการตามมาตรา  89  หรือมาตรา 123 แล้วแต่กรณี แล้วสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการ และให้นำ (4) วรรคสอง  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
(7)  ในกรณีที่ปรากฎว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการก็ให้สั่งยุติเรื่อง  และให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือกลับเข้ารับราชการตาม (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี
 
(8) ในกรณีที่ปรากฎว่าผู้ถูกสั่งพักราชการนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น  แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และได้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ก็ให้สั่งยุติเรื่อง
 
(9) ในกรณีที่ปรากฎว่าผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นมิได้กระทำผิดวินัยและไม่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น แต่ไม่อาจสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการได้เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้นแล้ว  ก็ให้สั่งยุติเรื่องและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
 
(10) ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้นั้นมิได้กระทำผิดวินัย  แต่มีกรณีที่จะต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุอื่น  ก็ให้สั่งให้ออกจากราชการตามเหตุนั้นโดยไม่ต้องสั่งให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือกลับเข้ารับราชการ