ส่องความอันตรายสาร "แคดเมียม" หลังพบ 1.5 หมื่นตันที่สมุทรสาครขั้นภัยพิบัติ

05 เม.ย. 2567 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 14:00 น.
12.0 k

ส่องความอันตรายสาร "แคดเมียม" หลังพบ 1.5 หมื่นตันที่สมุทรสาครขั้นภัยพิบัติ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้วที่นี่ ระบุเป็นแร่โลหะหนักที่สามารถปนเปื้อนมากับสภาพสิ่งแวดล้อม และอาหาร

สมุทรสาครประกาศ "เขตภัยพิบัติ" หลังพบ "กากแคดเมียม" เป็นจำนวนกว่า 1.5 ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนที่มีความอันตราย โดยเรื่องดังกล่าวถือว่าสร้างความกังวลและอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับความอันตรายของ "แคดเมียม" พบว่า

แคดเมียม คืออะไร

แคดเมียม (Cadmium) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ที่สามารถปนเปื้อนมากับสภาพสิ่งแวดล้อม และอาหาร ซึ่งถูกจัดอยู่ให้เป็นสารประเภทอันตรายทางเคมี โดยมีสูตรทางเคมีคือ Cd 

โดยเป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ 

นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย

สำหรับแร่แคดเมียมนั้น เป็นที่นิยมในการถูกนำมาทำเป็นแบตเตอรี่ต่างๆ และถ่านไฟฟ้า โดยเฉพาะ ถ่าน Ni-Cd และส่วนที่เหลือมักนิยมนำไปใช้สำหรับทำสีผง สารเคลือบ โลหะชุบ และส่วนประกอบหนึ่งในการผลิตพลาสติก

แร่แคดเมียมส่วนใหญ่ มักจะถูกพบในแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ และการทำเหมือง ซึ่งสามารถปนเปื้อนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น ทองแดง แร่สังกะสี และแร่ตะกั่ว หรือทองแดง ซึ่งสารตัวนี้จะปนเปื้อนมากับน้ำเสีย จากโรงงาน และกลุ่มควันที่สามารถกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ก็มีสารเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ด้วยเช่นกัน

ความอันตราย-ผลกระทบ

ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหาร ระบุว่า วัตถุ หรืออาหาร ที่มีสารแคดเมียมเจือปน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสูดดมและรับประทาน โดยสารจะถูกนำไปเก็บสะสมไว้ในตับ และส่วนของหมวกไต ซึ่งสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์ถึง 30 ปี 
 

อีกทั้งยังพบว่า สารแคดเมียม ยังสามารถสะสมอยู่ในปอดได้ และไต ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่กรองของไตนั้นลดลง 

การสะสมสารแคดเมียมที่มากเกินไป จะทำให้เกิดโรคที่มีชื่อเรียกว่า อิไต-อิไต ทำให้ระบบเอนไซม์ทำงานผิดปกติ จนถึงไม่ทำงาน จนเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างทรมาน โดยบริเวณ แขน ขา สะโพก และบริเวณฟัน จะพบมีวงแหวนสีเหลืองติดกับเหงือก เรียกว่า วงแหวนแคดเมียม และจะมีอาการปวดร้าวสะสมนานถึง 20-30 ปี และเมื่อร่างกายเดินไม่ไหว ก็จะเกิดการกดกระดูกสันหลัง 

นอกจากนี้ ความอันตรายจากแคดเมียม ยังสามารถจะทำให้คน หรือสัตว์ ที่ได้รับสารแคดเมียมนี้มีโอกาสเป็นหมัน ระบบไหลเลือด ระบบประสาท กระดูกพรุน โรคต่อมลูกหมาก ความดันโลหิตสูง และเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ด้วย

อาการจากสารแคดเมียม

มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคนิคการแพทย์ ระบุว่า อาการที่ได้รับสารแคดเมียมจากการกินจะส่งผลให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้อง และปอด 

อย่างไรก็ดี หากหายใจเอาควันเข้าไปในปอด ก็จะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้นสุดท้ายก็จะไตวาย

ปัจจุบันสารแคดเมียม มีการตั้งกฎหมายการใช้ โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณการใช้สารอันตราย เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแคดเมียมจัดอยู่ในสารอันตรายที่ตรงตามกฎหมายกำหนด 

โดยการใช้แคดเมียมนั้น มีการจำกัดสารปริมาณสูงสุดได้ 100 part per milion (ppm) และอนุญาตใช้สารแคดเมียมในปริมาณสูงสุดมากกว่าปกติได้ในการผลิตสารเคลือบผิวผลิตภัณฑ์