ข่าวปลอม แท็กซี่เก็บค่าบริการ 50 บาท เข้า “สถานีขนส่งหมอชิต 2”

14 มี.ค. 2567 | 13:33 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 13:45 น.

“บขส.” เตือนประชาชน ระวังแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการ 50 บาท เข้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 ย้ำหากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวจ่อลงโทษตามกฎหมายทันที

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะเรียกเก็บค่าบริการ 50 บาท จากจุดให้บริการรถแท็กซี่ในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ว่า บขส. ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวดังกล่าว และขอยืนยันไม่มีนโยบายให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการ 50 บาทในพื้นที่สถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 เด็ดขาด หากประชาชนพบการเรียกเก็บค่าบริการนอกเหนือจากราคาค่าโดยสาร สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือกรมการขนส่งทางบกได้ทันที เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

 

ที่ผ่านมา บขส. ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 โดยมีการปิดพื้นที่ขาเข้า มารวมกับพื้นที่ขาออก ทำให้ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหากลุ่มมิจฉาชีพที่เข้ามาฉวยโอกาสได้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งได้ร่วมมือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสาร จำนวน 14 เส้นทาง มารับส่งผู้โดยสารที่ป้ายรถเมล์ หน้าเสาธงสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 ตลอดทั้งวัน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ให้สามารถเดินทางต่อได้อย่างไร้รอยต่อด้วย
 

สืบเนื่องมาจากนายคเนศวร แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยกรณีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มจากผู้โดยสาร 50 บาท สำหรับการรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิต ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าว ได้มีการสำรวจผ่านแบบสอบถามทั้งหมด 1,000 ชุด ซึ่งสำรวจตั้งแต่วันที่ 1-12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นการสอบถามถึงการขอเก็บค่าบริการเพิ่มเติม 50 บาท จากค่าโดยสารหน้ามิเตอร์แท็กซี่ โดยเป็นการสำรวจจริงกับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถแท็กซี่ในหมอชิตจริง และแท็กซี่ในหมอชิตที่วิ่งรับผู้โดยสารในปัจจุบัน

 

“ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ที่มีความตั้งใจและมีความปรารถนาดีกับผู้โดยสารและไม่คิดจะเอาเปรียบผู้โดยสาร จึงเข้าไปวิ่งรับไปทุกที่ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสารแม้แต่เที่ยวเดียว ผลลัพธ์จึงทำให้ผู้โดยสารพึงพอใจมากในการบริการครั้งนี้ของสมาชิกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่”
 

นายคเนศวร กล่าวต่อว่า การเข้าไปรับผู้โดยสารในแต่ละครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่าย 10 บาทต่อเที่ยว แต่ทางแท็กซี่ไม่ได้อะไรเพิ่มเติม ยิ่งกรณีผู้โดยสารใช้บริการไม่ไกล ไม่เกิดระยะทางที่มิเตอร์ปรับขึ้น 35 ถึง 45 หรือ 51 บาท หักลบ 10 บาท แล้ว คนขับแท็กซี่เท่ากับขาดทุน 10 บาท แต่หากผู้โดยสารเรียกไปในระยะทางที่ไกล แล้วค่าโดยสารมิเตอร์ขึ้นไปหลายร้อยบาท ถือว่าคุ้มค่า สำหรับแบบสอบถามดังกล่าว จะนำไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาในวันที่ 14 มีนาคม 2567 พร้อมทั้งขอหารือและทำความเข้าใจในการให้บริการแท็กซี่ในหมอชิตด้วย