"ย้ายอุเทนถวาย" 48 ปี ขุดรากปมข้อพิพาทที่ดิน

27 ก.พ. 2567 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2567 | 13:03 น.
2.8 k

48 ปี ขุดรากปมข้อพิพาทที่ดิน "ย้ายอุเทนถวาย" หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่ของ "จุฬาฯ" พร้อมจับตาปัญหานี้จะจบลงอย่างไร

ย้าย-ไม่ย้าย ? มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก "อุเทนถวาย" ยังเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจ หลังศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2565 เเละต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง 

ล่าสุด เครือข่ายศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวกัน 3,000 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่กับนายกรัฐมนตรี ผ่าน นางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการระบุเหตุผล 6 ข้อ ในการเเสดงเจตจำนงพร้อมกับข้อเรียกร้อง 

 

 

ชนวนเหตุของเรื่องนี้คืออะไร "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมรายละเอียดเพื่อทำความเข้าใจรากปมของข้อพิพาทที่ดินอุเทนถวาย  

48 ปี นับตั้งเเต่ ปี 2518 จุฬาฯ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เจรจาขอคืนที่ดิน แต่ไม่เป็นผล แต่ในความเป็นจริงปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน เพราะแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ของจุฬาฯ ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา

 

 

ปี 2545 จุฬาฯ ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวาย ซึ่งกรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างและขนย้ายให้ประมาณ 200 ล้านบาท

ปี 2548 อุเทนถวายทำบันทึกข้อตกลงจะย้ายไปก่อสร้างที่ตำบลบางปิ้ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 

ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งสโมสรนักศึกษาอุเทนถวายทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง ขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม

ปี 2552 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)  ชี้ขาดให้อุเทนถวายย้ายทรัพย์สิน คืนพื้นที่ให้จุฬาฯ ชำระค่าเสียหายปีละ 1.1 ล้านบาทต่อปีจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ

ธันวาคม ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง 

ปี 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล "ศุภมาส อิศรภักดี" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) แจ้งความคืบหน้าว่า ตัวแทนศิษย์ปัจจุบันยื่นหนังสือขอร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลกรณีอุเทนถวาย 

ปี 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้สัมภาษณ์ว่า อุเทนถวายต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ในการย้ายไปยังวิทยาเขตใหม่ 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี ยืนยันจะจัดหาสถานที่ให้เหมาะสม 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นักศึกษา-ศิษย์เก่า-สมาคมผู้ปกครองและครู “อุเทนถวาย” กว่า 3 พันคน เดินขบวนทำกิจกรรม 5 จุด แสดงเจตจำนงคัดค้านการย้ายเขตพื้นที่อุเทนถวาย

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า ต้องรับฟัง ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี จะเป็นผู้แถลงรายละเอียด พร้อมย้ำว่าต้องรับฟังทุกความคิดเห็น