วันสหกรณ์แห่งชาติ 2567 ประวัติ ความสำคัญที่ควรรู้

21 ก.พ. 2567 | 00:05 น.

วันสหกรณ์แห่งชาติ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เปิดประวัติ ความเป็นมาวันสำคัญของเกษตรกรไทย พร้อมหาคำตอบ สหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ที่ไหน และนายทะเบียนสหกรณ์คนแรกของไทย

วันสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีนั้น นับว่า มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทยมายาวนาน โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และ ทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก)

รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซนที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี

ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ" 

ความเป็นมาของสหกรณ์ในประเทศไทย

สหกรณ์ ถือกำเนิดมาจากปัญหาในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยระยะแรกนั้น การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้น ในปี พ.ศ. 2459 ดังนั้น การจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกจึงดำเนินไปอย่างช้า ๆ จนถึงสิ้น ปี พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นเวลา 12 ปี นับตั้งแต่เริ่มนำสหกรณ์เข้ามาในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทนี้ขึ้นมาเพียง 81 สมาคม จัดตั้งอยู่ใน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรีและอยุธยา มีเงินทุนให้กู้ยืมเพียง 300,000 บาทเศษ

กระทั่ง เมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่า สหกรณ์เป็นสิ่งที่สามารถจัดทำได้สำเร็จจึงได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 ขึ้น และจัดหาทุนมาให้กู้ยืมมากขึ้น หลังจากนั้น 5 ปีได้มีการขยายสาขาออกไปได้อีก 7 จังหวัด

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสหกรณ์ มีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ที่ดิน ร้านสหกรณ์ ต่อมาสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายงานสหกรณ์จากระดับกรม ขึ้นมา เป็นระดับกระทรวง 

หลังจากปี พ.ศ. 2497 อัตราการขยายตัวของสหกรณ์ลดลงเนื่องจาก เป็นระยะที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสหกรณ์มาก่อน จนไม่สามารถจะดูแลให้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันกระทรวงสหกรณ์ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ขาดกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงของสหกรณ์ คือ มีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2515 ซึ่งมีผลทำให้กรมสหกรณ์ทีดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ และสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเดิม ถูกยุบมารวมเป็น "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เพียงกรมเดียว ส่วนกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ยังคงอยู่ในฐานะเดิมเพราะงานตรวจสอบบัญชีเป็นงานอิสระ

ผลการดำเนินงานทางสหกรณ์ในธุรกิจต่าง ๆ ได้รับความเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกจนทำให้จำนวนสหกรณ์ จำนวนสมาชิก ปริมานเงินทุน และผลกำไรของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันสหกรณ์ ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2542 ประมาณ 5,549 สหกรณ์ และสมาชิก 7,835,811 คน ครอบครัวของสหกรณ์ในประเทศไทยจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ของประเทศโดยเฉพาะต่อประชาชนที่ยากจน สหกรณ์จะเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

รัฐและขบวนการสหกรณ์ไทย ได้ร่วมจัดงาน "วันสหกรณ์แห่งชาติ" ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด "สหกรณ์" พระองค์ท่านไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียนเท่านั้น

แต่เป็น "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" ยังเป็นผู้ปูพื้นฐานและทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่และจัดตั้งขยายกิจการการสร้างความผาสุกแก่ประชาชนเพื่อการกินดีอยู่ดี เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ

พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส เป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับจอมมารดาเลี่ยมเล็ก (ธิดานายสุดจินดา (พลอย ชูโต) ประสูติเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2420 ในพระบวรราชวัง มีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัททาวดีศรีราชธิดา

เมื่อเยาว์วัยทรงเรียนหนังสือกับพระมารดาที่ตำหนัก เมื่อพระชันษา 5 ปี ก็ทรงอ่านหนังสือได้คล่อง ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อพ.ศ. 2429 และต่อมาศึกษาภาษาอังกฤษจนถึงพ.ศ. 2436 จึงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายเวร กระทรวงธรรมการ ขณะพระชันษา 16 ปี และได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยในกรมศึกษาธิการใน ทรงรับหน้าที่พิเศษเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชาหนังสือไทย ทรงเป็นกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความแพ่ง และทรงได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ผนวชเป็นสามเณร โดยมีพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเมธาธรรมรส (อ่อน อหึสโก) เป็นพระศีลาจารย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสตามเสด็จด้วย ทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นเวลาสองปี และเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2442

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระริเริ่มตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2470 และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรี โดยทรงได้รับเลือกเป็นสภานายก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2474

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ด้วยพระโรคหลอดเลือดในสมองตัน สิริพระชันษา 68 ปี 195 วัน มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2491 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส

ที่มา สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย