ส่องวิสัยทัศน์ "พรชัย จันศิษย์ยานนท์" แคนดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ

20 ม.ค. 2567 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 17:42 น.
550

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ถึงเวลาที่ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ต้องเดินหน้าเชิงรุก เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการมองไปข้างหน้า คือสิ่งสำคัญ

KEY

POINTS

  • จุฬาฯ ในยุคโลกไร้พรมแดน ต้องปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มการศึกษาใหม่ เมื่อแนวคิดด้านการศึกษาเปลี่ยนไป เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้าเรียนในระบบ การเรียนในระบบก็ต้องลดน้อยลง
  • ตั้งเป้า 2 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ Life Long Learning  ด้วยการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันวางแผนและเดินหน้าสร้างผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมทั้งการปรับหลักสูตรใหม่ ให้มีความทันสมัย เชื่อมต่อกับหลักสูตรในต่างประเทศ เพื่อให้มีความหลากหลาย มีความคล่องตัว
  • ส่งเสริมและพัฒนานักศึกษา บุคลากรติดอาวุธให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพ และต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หนึ่งในแคนดิเดต “อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” กับวิสัยทัศน์ในการนำพา “จุฬาฯ” ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผ่านบุคลากรที่มีคุณภาพ และผลิตคนคุณภาพออกสู่สังคมในทุกๆสาขาวิชา

ปรับหลักสูตรรับโลกไร้พรมแดน

ศ.ทพ.ดร.พรชัย สะท้อนให้ฟังว่า วันนี้บริบทของการศึกษา เป็นการศึกษาไร้พรมแดน ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างมุ่งสู่นวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ต้องมีงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อก่อเกิดเป็นนวัตกรรม วันนี้จึงต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มการศึกษาใหม่ เป็นการศึกษาไร้พรมแดน ซึ่งเมื่อแนวคิดด้านการศึกษาเปลี่ยนไป จะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มดีขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้าเรียนในระบบ การเรียนในระบบก็ต้องลดน้อยลง

ส่องวิสัยทัศน์ \"พรชัย จันศิษย์ยานนท์\" แคนดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ

“ปัจจุบันจุฬาฯ ดีอยู่แล้ว แต่จะก้าวไปข้างหน้าต้องเปลี่ยนแปลง จุฬาฯ ยังดีได้กว่านี้ พัฒนาได้มากกว่านี้ นับจากนี้จุฬาฯ จะเดินหน้าเชิงรุก และเป็นเสาหลักในการพัฒนาให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งใน 2 ปีนับจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ Life Long Learning เพื่อให้เกิดการศึกษาไร้พรมแดน โดยมีพันธมิตรที่พร้อมผนึกความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยปีนี้ ถือเป็นปีแห่งการวางแผน และเชื่อว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2 ปีข้างหน้า”

ทั้งนี้ในด้านวิชาการจะมีการปรับหลักสูตรใหม่ให้มีความทันสมัย เชื่อมต่อกับหลักสูตรในต่างประเทศ เพื่อให้มีความหลากหลาย มีความคล่องตัว ทำให้เด็กสามารถออกแบบเลือกสิ่งที่อยากเรียนได้เอง ถ้าเรียนในระบบก็ต้องมีบทเรียนเสริม พัฒนาซอฟท์สกิล หากอยากเรียน AI ก็ต้องมีวิชาเสริม

หรือจะเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เป็นสตาร์อัพ ก็ต้องมีคอร์สในการเสริมและพัฒนาให้กับนักศึกษา รวมไปถึงบุคลากร ในระดับอาจารย์ก็ต้องสนับสนุนและติดอาวุธให้ โดยเฉพาะในด้านงานวิจัย เพราะงานวิจัยที่มีคุณภาพ จะก่อให้เกิดนวัตกรรมตามมาต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันหลายคณะในจุฬาฯ มีการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีการทำเรื่องโรบอตติก การนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงในผู้ป่วยจิตเวช ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งวันนี้คนไทยอาจจะรู้จัก AI แค่ ChatGPT แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้คนไทยเข้าถึงมากขึ้น

ส่องวิสัยทัศน์ \"พรชัย จันศิษย์ยานนท์\" แคนดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ

อย่างไรก็ดี การจะพัฒนาให้จุฬาฯ เดินหน้าไปได้ สิ่งสำคัญหนึ่งคือ เรื่องของงบประมาณ ซึ่งศ.ทพ.ดร.พรชัย บอกว่า หลายคนอาจมองว่าจุฬาฯ มีรายได้ดี แต่ในความเป็นจริงงบประมาณในการนำมาพัฒนามหาวิทยาลัยจะมาจาก 3 ส่วนคือ

1. งบประมาณจากภาครัฐ

2. จากค่าเล่าเรียน

3. รายได้จากการบริหารจัดการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ

ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งจุฬาฯเป็นองค์กรใหญ่ งบประมาณที่ได้มาจึงไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่นวัตกรรม

ในอนาคตจุฬาฯ จึงมุ่งการนำเสนอวิจัยที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้มีงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงการนำทรัพย์สินของจุฬาฯ มาบริหารจัดการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มาสร้างให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดจากวิจัย นวัตกรรมการเรียนการสอน และเกิดผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ แต่การดำเนินงานทั้งหมดจะต้องไม่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนเดือดร้อน รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานวิชาการเพื่อให้มีรายได้มาสนับสนุนหน่วยงาน และทำงานวิจัยของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ดันไทยติด Top 50

อีกหนึ่งพันธกิจท้าทาย ของ “ศ.ทพ.ดร.พรชัย” คือ การผลักดันให้คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่สร้างผลงานจนได้รับการจัดอันดับความเป็นเลิศด้านวิชาการ จาก QS WORLD UNIVERSITY RANKINGS by Subject Areas 2023 โดยครองอันดับ 1 ในประเทศไทย อันดับ 13 ในเอเชีย และ อันดับ 70 ของโลก

ส่องวิสัยทัศน์ \"พรชัย จันศิษย์ยานนท์\" แคนดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ

“เชื่อมั่นว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ สามารถก้าวขึ้นติดอันดับ 50 ของโลกได้ภายใน 2 ปีนับจากนี้ จากผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นมากมาย และได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะส่งผลให้รั้งอันดับ 10 ในเอเชีย ด้วย ซึ่งการก้าวขึ้นมาติดอันดับโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

เมื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกให้การยอมรับ และเปิดกว้างเชิญชวนให้เข้าร่วมงานวิจัย งานสัมมนา ทำให้ไทยได้มีงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพ และสามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมในอนาคตได้ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนของเด็กไทยให้มีประสิทธิภาพ ด้วยคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี และภาพของจุฬาฯ คือการเป็น Harvard University of Thailand”

นอกจากนี้ด้านการบริการทางการแพทย์ ผ่านคลินิกบริการทันตกรรม ในปีนี้มหาวิทยาลัยได้งบประมาณเพิ่มและจัดทำข้อบังคับใหม่ พร้อมขยายบริการจาก 20-25 ยูนิตในช่วงกลางวัน ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าถึงเพียง 9% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเฉลี่ยมีผู้มาใช้บริการราว 4 แสนครั้งต่อปี เพิ่มเป็น 70 ยูนิตให้บริการทั้งในช่วงกลางวันและเย็น

เพื่อให้คนไข้มาใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน และเข้าถึงการรักษามากขึ้น ซึ่งประเมินว่าจะสามารถให้บริการเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่าตัว อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้กับคนไข้มากขึ้น มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในการเปิดให้บริการคลินิกทันตกรรมในสถานีบริการน้ำมันในอนาคตด้วย

ส่องวิสัยทัศน์ \"พรชัย จันศิษย์ยานนท์\" แคนดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ

“นอกจากการขยายคลินิกบริการด้านทันตกรรมแล้ว จุฬาฯ ยังนำเทคโนโลยี AI เข้ามาให้บริการ ทั้งการแชตบอท ผ่าน Telemedicine ให้คำปรึกษาผ่านทางไกล การสอบถามอาการเบื้องต้น ก่อนนัดหมายเข้าพบแพทย์ รวมถึงการให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์ ทำให้สามารถควบคุมด้านการบริการได้ดีขึ้น”

แคทดิเดต อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้จุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในการทำให้เกิดนวัตกรรม ที่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจุฬาฯจะเดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการจัดตั้ง Business Unit ภายใต้ชื่อ “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ” โดยทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ และวางแผนเชิงธุรกิจ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม และนำมาต่อยอดงานสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

หากวันนี้ถามว่า สิ่งที่จะทำอันดับแรก หากได้เข้ารับตำแหน่ง “อธิการบดี” คืออะไร

ศ.พท.ดร.พรชัย ตอบทันทีว่า “พัฒนาคน” จุฬาฯต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ติดอาวุธให้บุคลากร และจุฬาฯจะพัฒนาได้ดีกว่านี้ ให้เหมือนภาคเอกชน มีความคล่องตัวจากวันนี้ที่จุฬา ยังมีความเป็นราชการอยู่บ้าง ดังนั้นหากพัฒนาบุคลากร จุฬาฯ จะไปได้ไกลกว่านี้มาก

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,958 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2567