food-security

"จุฬาฯ"เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมุ่งแก้ปัญหาแห่งแรกเอเชียแปซิฟิก

    "จุฬาฯ"เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมุ่งแก้ปัญหาแห่งแรกเอเชียแปซิฟิก หลังมีความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในการทำการเกษตรที่ทั่วโลกจากการเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยาที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ความท้าทายในด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในการทำการเกษตรที่ทั่วโลกกําลังเผชิญอยู่ คือการเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยาหรือแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นของเชื้อดื้อยาส่งผลทำให้การควบคุมและรักษาโรคติดเชื้อทำได้ยากขึ้นหรือไม่สามารถทำได้ 

ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ความรุนแรงของการเจ็บป่วย และอัตราการเสียชีวิต ศูนย์อ้างอิงฯ ภายใต้การดำเนินงานของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนความพยายามระดับโลกเพื่อแก้ปัญหานี้ภายใต้การทำงานร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO)  

“จุฬาฯมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์สังคมผ่านความรู้และการศึกษาวิจัยทางด้านอาหารและการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน (science, education and methodology)”

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวอีกว่าความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในทุกมิติ ทั้งเชื้อดื้อยา โรคระบาดสัตว์ข้ามแดนและโรคสัตว์สู่คน สุขภาพหนึ่งเดียว การผลิตปศุสัตว์ ความปลอดภัยทางอาหาร และกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและยั่งยืนจึงมีความสำคัญ 

"จุฬาฯ"เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมุ่งแก้ปัญหาแห่งแรกเอเชียแปซิฟิก

ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื้อดื้อยายังเป็นปัญหาที่น่ากังวลในระดับโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยสามารถพบได้ทั้งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยและสัตว์ป่วย รวมทั้งในสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนไปสัมผัส 

โดยพบเชื้อดื้อยาได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร ประชาชนมักติดเชื้อดื้อยาจากการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และผ่านการปรุงในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  

ซึ่งทางสัตวแพทยศาสตร์ได้มีความพยายามเฝ้าระวังและควบคุมการใช้ยาให้เหมาะสมในฟาร์ม โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมให้กับนิสิตสัตวแพทย์ และสัตวแพทย์ที่จบแล้ว เพื่อให้เข้าใจการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่นําไปสู่การเกิดและแพร่กระจายเชื้อดื้อยาที่เพิ่มขึ้น 

ส่วนการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาเป็นกิจกรรมสำคัญลำดับแรกของการแก้ไขเชื้อดื้อยา ซึ่งศูนย์อ้างอิงฯได้ทำภารกิจในการติดตามข้อมูลที่ทันสมัยทันเหตุการณ์เชื่อมโยงเชื้อดื้อยาที่เกิดจากสัตว์สู่คน รวมถึงเชื้อดื้อยาที่อยู่ในสภาพแวดล้อม และสร้างความเข้มแข็งและความเข้าใจในกลุ่มปฏิบัติงานผ่านการอบรมบุคลากรที่ทํางานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคในสัตว์ให้มีความรู้ความสามารถในการติดตามเรื่องของเชื้อดื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการในแต่ละประเทศเพื่อสร้างศักยภาพในการติดตามเชื้อดื้อยาให้เท่าเทียมกันถือเป็นการเสริมความเข้มแข็งร่วมกันในระดับภูมิภาคโดยมีศูนย์อ้างอิงฯเป็นศูนย์กลางในการทำงาน  

ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการ ศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการประเมินทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน 

และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 คาดการณ์การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย เสียชีวิต ปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

ศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการทำงานวิจัยเพื่อติดตามข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับ ส่งผลให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการรับรองเป็นศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะของ FAO (FAO Reference Centre for AMR) ตั้งแต่ปี 2562 ถือเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานแรกทั่วโลกที่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ และเป็นศูนย์อ้างอิงฯนานาชาติแห่งแรกและแห่งเดียวในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีศูนย์อ้างอิงฯ เพียง 9 แห่ง 

โดยศูนย์อ้างอิงฯ มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับ FAO และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรนานาชาติทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยา ยังดำเนินการสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในภูมิภาคให้เฝ้าระวังติดตามและแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้