สุราพื้นบ้าน ทวงสัญญา หมอชลน่าน ลืมหรือยัง

05 ม.ค. 2567 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2567 | 17:06 น.

นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย ทวงถามสัญญา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมต.สาธารณสุข ลืมหรือยัง เคยรับปากแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดช่องโฆษณา ชี้เป็นจุดตายของสุราชุมชน

เสียงสะท้อนของชาวสุราพื้นบ้าน สุราชุมชนที่มองมายังมาตรการลดภาษีสุราแช่เหลือ 0% ของรัฐบาลว่า ยังไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนผู้ผลิตสุราพื้นบ้านกว่า 90% เป็นประเภทสุรากลั่น 

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย ถึงแนวทางที่จะสามารถส่งเสริมสุราพื้นบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเด็นหลักที่ทางกลุ่มสุราชุมชนให้ความสำคัญ คือเรื่องของการโฆษณา โดยนายสมบูรณ์ ระบุว่า

"จุดตายของสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ห้ามการโฆษณา เพราะทำให้สุราชุมชนไม่มีช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเอง ต่อให้วันนี้มีการลดภาษีลงไป 50% แต่ก็ไม่มีที่ขายเพราะโฆษณาไม่ได้ ต่อให้ผลิตสุราชุมชนออกมาดีอย่างไรก็ขายไม่ได้" 

พร้อมทวงถามไปถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ว่าลืมหรือยัง เคยรับปากแก้กฎหมายโฆษณาสุราชุมชนเอาไว้ ก่อนที่จะได้เป็น รมต.สาธารณสุข

นายสมบูรณ์ เล่าว่าเมื่อครั้งที่มีโอกาสพบกับ นพ.ชลน่าน ที่จ.น่าน ในการประชุมเรื่องสุราชุมชน นพ.ชลน่าน ได้เคยแสดงความเห็นด้วย และรับปากว่าควรปรับแก้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สามารถโฆษณาได้ 

โดย นพ.ชลน่าน ได้เปิดเผยว่า คุณพ่อของตนก็เป็นผู้ทำสุรา อีกทั้งจ.น่าน มีกลุ่มผู้ผลิตสุรากลั่นที่มีความเข้มแข็ง และสามารถผลิตสุรากลั่นที่มีคุณภาพดี จึงขอฝากถึงนพ.ชลน่าน ว่าอย่าลืมที่สัญญาไว้กับนายสมบูรณ์ที่ จ.น่าน

นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย ยังได้กล่าวถึง สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านดำเนินการอยู่คือ สุราก้าวหน้า ถือว่าสามารถช่วยส่งเสริมสุราพื้นบ้านได้อย่างมาก รวมถึงการอนุญาตให้สุราชุมชนสามารถผลิตเหล้าสีได้ด้วย 

สำหรับทางสมาคมฯเอง ได้เตรียมที่จะทำมาตรฐานสุราชุมชน สำหรับสุรากลั่นและสุราแช่ ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาตรฐานเหล่านี้ 

การตั้งมาตรฐานดังกล่าวนั้น จะมีคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ตัดสิน ทั้งในเรื่องของรสชาติ และความปลอดภัย ซึ่งจะแตกต่างไปจากมาตรฐานที่สินค้าโอทอปเคยได้รับในอดีต เช่น การกำหนดชื่อประเภทสินค้าจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ตัวอย่างเช่น การผลิตเหล้าขาวจากอ้อย จะได้สุราประเภทเหล้ารัม (RUM)  แต่กฎหมายกำหนดให้โรงเหล้าขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถผลิตเหล้ารัมได้ 

ดังนั้นสุราชุมชนที่ผลิตจากอ้อย จึงต้องมีการกำหนดชื่อเรียกอื่น โดยในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ใช้ชื่อได้เพียงสุราขาว หรือเหล้าขาวเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ ควรมีชื่อเรียกเฉพาะให้กับสุราชุมชน ที่ผลิตจากวัตถุดิบชนิดต่างๆ เหมือนสุราในต่างประเทศ เช่นโซจู อาวาโมริ ซึ่งล้วนเป็นชื่อเฉพาะ เป็นต้น 

นอกจากนี้ สิ่งที่กลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนต้องการจากรัฐบาล คือควรมีกองทุนขึ้นมาสนับสนุนสุราชุมชน ซึ่งจะส่งผลระยะยาว ให้มีการบริหารจัดการกองทุน โดยเงินส่งเข้ากองทุนอาจมาจากภาษีสรรพสามิตสุรา เพราะมีการเก็บภาษีส่วนนี้นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆอยู่แล้ว